Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
เครื่องมือจัดการเรียนรู้สำหรับครูยุคดิจิทัล

เครื่องมือจัดการเรียนรู้สำหรับครูยุคดิจิทัล

สวัสดีครับ เรื่อง เครื่องมือจัดการเรียนรู้สำหรับครูยุคดิจิทัลจะกล่าวถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเป็นครูในยุคดิจิทัล พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

การเรียนรู้ในอนาคตจะมีการใช้แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์เป็นระบบบริการออนไลน์ที่เอื้อให้ผู้เรียน ผู้สอน ผู้สนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล เครื่องมือ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในระบบห้องเรียนแบบเดิมๆ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการและพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยเฉพาะ e-Learning และ MOOC (Massive Open Online Course) หรือบริการบทเรียนออนไลน์แบบเปิดที่ให้บริการฟรีเป็นส่วนใหญ่

MOOC มีส่วนสำคัญในการกระจายโอกาสทางการศึกษา โดยทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ผ่านระบบออนไลน์ เป็นการจัดการศึกษาที่สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงความรู้ที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่ลดลง จุดเด่นที่ MOOC แตกต่างจากแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ คือ ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาสาระ การรับรองหลักสูตร และเป็นระบบที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนสามารถเรียนจบตามเป้าหมาย

 

แนวโน้มรูปแบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ในอนาคต

  1. การเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Learning) สมาร์ทโฟนสามารถเชื่อมต่อกับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันจึงช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้คล่องตัวมากขึ้น และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกหนแห่ง
  2. การเรียนรู้แบบทีละเล็กละน้อยผ่านคอนเทนต์สั้นๆ (Micro Learning) แพลตฟอร์มที่มีการนำเสนอคอนเทนต์เพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้สั้นกระชับ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานที่มีเวลาจำกัด โดยแบ่งเนื้อหาการเรียนรู้ออกเป็นตอนๆ ใช้เวลาในการเรียนแต่ละครั้งไม่เกิน 2-7 นาที เนื้อหาที่ย่อยง่ายและกระชับเอื้อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนายังสามารถนำเสนอคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโอ เกม ควิซ (Quiz) พอดแคสต์ (Podcast)
  3. การเรียนรู้ร่วมกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Learning) จะมีการใช้แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านทางเครื่องมือต่างๆ เช่น กระดานสนทนา (WebBoard) เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นที่เสมือน (Forum) การสนทนาโต้ตอบ (Chat) ระบบแชร์ไฟล์เอกสารไปจนถึงการสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Circle) หรือการสร้างเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (PLC)
  4. แพลตฟอร์มสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ (LXP – Learning Experience Platform) แพลตฟอร์ม LXP จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สรรหาเนื้อหาสาระให้ผู้เรียน (Content Aggregator) สร้างเส้นทางการเรียน (Learning Pathway) และติดตามกิจกรรมหรือความคืบหน้าในการเรียน นอกจากนี้ LXP ยังส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้ใช้ มีเครื่องมือช่วยผู้สอนในการวางแผนการสอน การแนะนำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามอัธยาศัยและตั้งเป้าหมายการเรียนให้เหมาะกับระดับความสามารถของตน ไปจนถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนคนอื่นๆ
  5. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แนวโน้มอนาคตจะมีการนำ AI เข้ามาใช้ในแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์มากขึ้น โดย AI จะมีบทบาทเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียน เช่น ช่วยลดภาระของครูในการจัดการบทเรียน เนื้อหา และการตรวจแบบฝึกหัด หรือช่วยจับคู่ผู้สอนกับผู้เรียนที่เหมาะสม ดังเช่น แพลตฟอร์ม VIPKid ของประเทศจีนที่จับคู่นักเรียนกับครูเจ้าของภาษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และการใช้ AI Chatbot (ระบบหุ่นยนต์ตอบกลับอัตโนมัติ) เพื่อตอบคำถามง่ายๆ หรือแนะนำข้อมูลความรู้และบทความวิชาการให้แก่ผู้เรียน
  6. การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกม (Gamification) จะมีการนำรูปแบบของเกมมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อดึงดูดความสนใจผู้เรียน โดยการนำเนื้อหาสาระความรู้มาถ่ายทอดในรูปของเกมจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนาน ลดแรงกดดัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำเนื้อหา
  7. การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Learning) เทคโนโลยีโลกเสมือนเช่น VR/AR/MR จะถูกนำมาใช้ในแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น โดยเทคโนโลยีเสมือนจริงจะช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง การได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้และจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริงสามารถนำมาใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์เสมือนจริงและการเรียนรู้ทักษะที่ใช้งบประมาณสูง เช่น การบินหรือการโต้ตอบต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างปลอดภัย เช่น สถานการณ์ไฟไหม้ พายุ อีกทั้งยังสามารถเปิดมิติใหม่ในการเรียนรู้
  8. การเรียนผ่านสื่อวีดิทัศน์มัลติมีเดีย (Video Multimedia Learning) เป็นรูปแบบที่มาแรงอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอมัลติมีเดียอย่างเช่น YouTube ซึ่งเป็นเว็บทางสังคมที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดการณ์ว่าในอนาคตปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 80-90% จะถูกขับเคลื่อนด้วยวิดีโอคอนเทนต์ การใช้สื่อวีดิทัศน์เพื่อถ่ายทอดความรู้หรือทักษะมีแนวโน้มที่จะถูกปรับเนื้อหาให้สั้นลง และตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น มีการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (Data Visualization) เพื่อช่วยเสริมในการอธิบายเนื้อหา และจะมีการผนวกเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Interactive หรือเทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน

 

เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เป็นโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นสําหรับการเรียนรู้ของบุคคลทั้งแบบเรียนรู้ด้วยตนเองหรือเรียนรู้แบบกลุ่ม ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าถึงด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยสามารถแบ่งประเภทเครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตามลักษณะการใช้งานได้ 5 ประเภท (กอบสุข คงมนัส, 2561) ได้แก่

  1. เครื่องมือการจัดการเรียนการสอน เป็นเครื่องมือที่ใช้สําหรับจัดการเรียนการสอนทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ สามารถใช้ออกแบบและสร้างกิจกรรมการเรียนรู้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ประกอบด้วย เครื่องมือสร้างบทเรียนออนไลน์ ระบบการจัดการเรียนรู้ และเครื่องมือสำหรับโต้ตอบในชั้นเรียน
  2. เครื่องมือพัฒนาเนื้อหา เป็นเครื่องมือที่ใช้สําหรับสร้างสรรค์เนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เครื่องมือพัฒนาเนื้อหาจะสามารถสร้างเนื้อหาได้ทั้งแบบข้อความ ภาพ กราฟิก เสียง ภาพเคลื่อนไหว แอนิเมชั่น วิดีโอ มัลติมีเดีย แบบฟอร์ม ความเป็นจริงเสมือน (VR) ความเป็นจริงเสริม (AR) ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความต้องการ ประกอบด้วย เครื่องมือพัฒนาเนื้อหา เครื่องมือจับภาพหน้าจอและจับภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอ และเครื่องมือแบบฟอร์มสํารวจ
  3. เครื่องมือทรัพยากรบนเว็บไซต์ เป็นเครื่องมือในลักษณะเว็บไซต์ จัดเป็นทรัพยากรแบบออนไลน์ที่ผู้เรียนแต่ละบุคคลสามารถเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อสืบค้นข้อมูล เข้าถึงแหล่งข้อมูล ศึกษาด้วยตนเอง จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตลอดจนใช้เพื่อนําเสนอและเผยแพร่ความรู้ของตนบนระบบเครือข่าย ประกอบด้วย เครื่องมือสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เครื่องมือแหล่งทรัพยากรบนเว็บไซต์ เครื่องมือหลักสูตรออนไลน์บนเว็บไซต์ เครื่องมือข่าวและการจัดการเนื้อหา
  4. เครื่องมือการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน เป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกันทางสังคมผ่านระบบออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสาร สร้างปฏิสัมพันธ์ ถ่ายทอด เผยแพร่ แลกเปลี่ยนเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย เครื่องมือเครือข่ายทางสังคม การส่งข้อความ เครื่องมือการประชุมผ่านวิดีโอ เครื่องมือการใช้แฟ้มข้อมูลร่วมกัน และเครื่องมือการทํางานเป็นทีมและร่วมมือกัน
  5. เครื่องมือส่วนบุคคลและพัฒนางาน เป็นเครื่องมือที่ใช้สําหรับการเรียนรู้และพัฒนางานด้วยตนเองตามวิธีการพื้นฐานหรือเฉพาะทาง ประกอบด้วย เครื่องมือสํานักงาน เครื่องมืออีเมล์ และเครื่องมือเฉพาะสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพงานส่วนบุคคล

 

ตัวอย่าง เครื่องมือจัดการเรียนรู้สำหรับครูยุคดิจิทัล

  1. เครื่องมือสำหรับการสอนและประชุมออนไลน์แบบเรียลไทม์ (Real-time) ที่ได้รับความนิยมได้แก่ Zoom, Google Meet, Microsoft Teams และ Line
  2. เครื่องมือสำหรับกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ เช่น Poll Everywhere, Mentimeter, Plickers
  3. เครื่องมือสำหรับสร้างและนำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยสร้างและนำเสนอเนื้อหาความรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก เช่น YouTube, Nearpod, Powtoon, Prezi
  4. เครื่องมือสำหรับสร้างห้องเรียนออนไลน์ที่รองรับแบบไม่ประสานเวลา (Asynchronize) ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกปฏิบัติและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียน เช่น Google Classroom, Edmodo, LMS, MOOCs
  5. เครื่องมือสำหรับติดตามและประเมินผลการเรียน ผู้สอนสามารถเลือกนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการตรวจสอบและทบทวนความเข้าใจของผู้เรียน โดยสร้างความท้าทายและให้ผู้เรียนได้สนุกสนานกับการทำแบบทดสอบ เช่น Socrative, Kahoot, Quizizz
  6. เครื่องมือสำหรับกระตุ้นและเสริมแรงจูงใจในการเรียน เช่น ClassDojo, Spatial.io, Padlet.com
  7. เครื่องมือสำหรับจัดเก็บและแบ่งปันเพื่อการเข้าถึงเข้าถึงไฟล์เอกสารได้จากระยะไกลในรูปแบบ Cloud Storage เช่น Google Drive, One Drive, Dropbox
  8. เครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ในการจัดเก็บแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เช่น Google Site, Wix, MakeWebEasy, GoDaddy, WordPress
  9. เครื่องมือสำหรับการใช้งานพื้นฐานด้านการจัดการเอกสาร เช่น Microsoft Word, Google Docs สำหรับพิมพ์เอกสาร Microsoft Excel, Google Sheets สำหรับสร้างตารางคำนวณ และ Microsoft PowerPoint, Google Slide สำหรับสร้างงานนำเสนอ
  10. เครื่องมือสำหรับสร้างและออกแบบงานกราฟิก เช่น Photoshop, Illustrator, Canva, Piktochart, Infogram, Microsoft PowerPoint

 

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ได้แก่

  1. ON-AIR คือ การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบส่งสัญญาณดาวเทียมหรือผ่านการออกอากาศทางทีวี
  2. ONLINE คือ การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้เรียนและผู้สอนสามารถสื่อสาร ประสานเวลา (Synchronous) หรือมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้จากระยะไกล เช่น ระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) การเรียนออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom หรือ Microsoft Teams
  3. ON–DEMAND คือ การจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีการบันทึกหรือจัดเก็บไว้บนระบบเครือข่าย โดยผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้ประสานเวลากัน (Asynchronous) หรือผู้เรียนสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Youtube หรือ สื่อที่จัดเก็บบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของ DLTV (www.dltv.ac.th)
  4. ON-HAND คือ การจัดการเรียนการสอนผ่านการนำส่งหนังสือ แบบฝึกหัด ใบความรู้หรือใบงานไปให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่บ้านโดยมีผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือ
  5. ON–SITE คือ การจัดการเรียนการสอนตามปกติ ณ โรงเรียนหรือสถานศึกษาแต่ละแห่ง
  6. ON-HYBRID คือ การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นตามความพร้อมของผู้เรียน โดยผสมผสานระหว่างรูปแบบ Onsite, Online และ On-Demand

 

ครูในยุคดิจิทัลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถนำเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อ ออนไลน์ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการออกแบบและจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน การสร้างสื่อการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละบุคคล ตลอดจนการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้น ครูดิจิทัลจึงต้องสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชันที่เป็นเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างมีวิจารณญาณ สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและสร้างสรรค์องค์กรแห่งการเรียนรู้ (PLC) เพื่อพัฒนาการศึกษาและแบ่งปันความรู้ร่วมกันทางสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

References:

  1. กอบสุข คงมนัส. 2561. เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้: วิถีแห่งการศึกษายุคดิจิทัล. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 20(4). 279-290.
  2. วัฒนชัย วินิจจะกูล และคณะ. 2564. TK Lifelong Learning Focus issue 01 ข้อมูลสถิติและบทวิเคราะห์การเรียนรู้Œตลอดชีวิตกับทิศทางในอนาคต. กรุงเทพฯ. บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จํากัด

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต