Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
สมรรถนะครูดิจิทัล

สมรรถนะครูดิจิทัล

สวัสดีครับ เรื่อง สมรรถนะครูดิจิทัลจะกล่าวถึงสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางและนโยบายการกำหนดสมรรถนะดิจิทัลของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลของครู และการพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะการเป็นครูดิจิทัล พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถใช้การเชื่อมโยงการเรียนรู้และทักษะผ่านโลกออนไลน์ คุณลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาผู้เรียน คือ การเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่รู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ มีความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ครูยุคดิจิทัลจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวีธีการใหม่ในการจัดการเรียนการสอน เป็นผู้ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียนและนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการพัฒนาผู้เรียนที่เป็นพลเมืองดิจิทัล

 

พลเมืองดิจิทัล คือ พลเมืองที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัลซึ่งได้เรียนรู้และมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด มีการบริหารจัดการและกำกับตนเองได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงรู้เท่าทันและสามารถปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิตนเองและผู้อื่นด้วย

 

ทักษะสำคัญในการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งจะทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างเข้าใจและปลอดภัย ได้แก่

  1. ทักษะการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตัวเอง (Digital Citizen Identity) ความสามารถในการสร้างและจัดการภาพลักษณ์ของตนเองในสื่อโซเชียลในเชิงบวกภายใต้พื้นฐานความเป็นจริง รับผิดชอบในการกระทำ ไม่กระทำการผิดกฎหมายละเมิดจริยธรรม
  2. ทักษะในการบริหารจัดการเวลาในโลกดิจิทัล (Screen Time Management) สามารถบริหารเวลาและควบคุมตนเองในโลกออนไลน์กับในชีวิตจริงได้อย่างสมดุล
  3. ทักษะการรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ (Cyberbullying Management) มีความสามารถในการรับมือ ป้องกัน และมีภูมิคุ้มกันกับการข่มขู่บนโลกไซเบอร์อย่างเหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์
  4. ทักษะการรักษาความปลอดภัยของตนเองบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity Management) ความสามารถในการป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลหรือถูกโจมตีในโลกออนไลน์ได้ เช่น การกำหนดรหัสผ่านต่างๆ ให้ปลอดภัย
  5. ทักษะในการจัดการความเป็นส่วนตัว (Privacy Management) รักษาความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ของตนเองและผู้อื่นได้ เพื่อความปลอดภัยทางข้อมูล
  6. ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง วิเคราห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยใช้วิจารณญาณและการตรวจสอบที่ถูกต้อง เช่น ภาพตัดต่อต่างๆ
  7. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูล ร่องรอยทางดิจิทัล (Digital Footprint) สามารถในการคิด เข้าใจความเป็นไปในโลกดิจิทัลว่าจะทิ้งร่องรอยและประวัติไว้เสมอ ซึ่งอาจส่งผลต่อในอนาคตและการใช้ชีวิต
  8. ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความเห็นอกเห็นใจและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น (Digital Empathy) มีความเห็นอกเห็นใจ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในโลกออนไลน์ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

Digital Literacy เป็นสมรรถนะดิจิทัลขั้นพื้นฐานที่พลเมืองในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล และตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ยูเนสโก (UNESCO, 2015) ให้ความหมายเกี่ยวกับสมรรถนะว่า หมายถึง พฤติกรรม ทักษะและทัศนคติที่คาดหวังเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งกำหนดความสามารถในการทำงานและกำหนดข้อมูลทางเทคนิคเฉพาะซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ว่ามีความเชี่ยวชาญและจำเป็นในการปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ในแต่ละตำแหน่งอย่างไร

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2562) ให้ความหมาย สมรรถนะ หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ เจตคติและคุณลักษณะต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้งานหรือในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงออกทางพฤติกรรมการปฏิบัติที่สามารถวัดและประเมินได้ และสมรรถนะเป็นผลรวมของความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะและศักยภาพต่างๆ ที่ทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในการทำงาน

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรีอน (ก.พ.) ให้นิยามเกี่ยวกับทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy หมายถึง ทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ Tablet โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ (https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp)

 

บุคลากรภาครัฐทุกคนจะต้องมีทักษะด้านดิจิทัลสำหรับปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมความสามารถใน 4 ด้าน คือ 1) ด้านการใช้งาน (Use) 2) ด้านความเข้าใจ (Understand) 3) ด้านการสร้าง (Create) 4) ด้านการเข้าถึง (Access) เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็นทักษะ 3 ระดับคือ ทักษะขั้นพื้นฐาน ทักษะขั้นต้นสำหรับการทำงาน และทักษะประยุกต์สำหรับการทำงาน

  1. ทักษะขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย
    • การใช้คอมพิวเตอร์
    • การใช้อินเทอร์เน็ต
    • การใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
  2. ทักษะขั้นต้นสำหรับการทำงาน ประกอบด้วย
    • การใช้โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processing)
    • การใช้โปรแกรมตารางคำนวณ (Spreadsheet)
    • การใช้โปรแกรมนำเสนอ (Presentation)
  3. ทักษะประยุกต์สำหรับการทำงาน ประกอบด้วย
    • การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์
    • การใช้โปรแกรมสร้างสื่อดิจิทัล
    • การใช้ดิจิทัลเพื่อความมั่นคงปลอดภัย

 

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดกรอบสมรรถนะดิจิทัลของประเทศไทยไว้ 4 ด้าน ดังนี้ (วิชัย วงษ์ใหญ่ และมารุต พัฒผล, 2564)

  1. ด้านการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) หมายถึง การมีสมรรถนะในการเข้าถึง ค้นหาคัดกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดการ ประยุกต์ใช้ สื่อสาร สร้าง แบ่งปัน การติดตามข้อมูลสารสนเทศและเนื้อหา (Content Media) ได้อย่างเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น มีความรับผิดชอบ ปลอดภัย มีมารยาท ไม่ละเมิดกฎหมาย
  2. ด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Skill/ICT Skill) หมายถึง การมีสมรรถนะในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ด้านดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลากหลาย และสามารถประยุกต์ใช้ในงานได้มากขึ้น ได้แก่ การประกอบอาชีพ การศึกษาและเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น
  3. ด้านการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือดิจิทัล (Problem Solving with Digital Tools) หมายถึง การมีสมรรถนะในการระบุความต้องการและทรัพยากรได้ ตัดสินใจใช้เครื่องมือดิจิทัลที่เหมาะสม ได้อย่างชาญฉลาดตามวัตถุประสงค์และความต้องการได้ แก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยงกันด้วยเครื่องมือดิจิทัลได้ ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาเชิงเทคนิค และสามารถปรับปรุงพัฒนาสมรรถนะตนเองให้เท่าทันโลกได้
  4. ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (Adaptive Digital Transform) หมายถึง การมีสมรรถนะในการยืดหยุ่นและปรับตัวต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ริเริ่ม และเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (2561) ประกาศแนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเกี่ยวกับสมรรถนะดิจิทัลสำหรับคุณวุฒิระดับปริญญาตรี 6 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1) ด้านการสืบค้นและการใช้งาน 2) ด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3) ด้านเอกลักษณ์และคุณภาพชีวิต 4) ด้านการสอนหรือการเรียนรู้ 5) ด้านเครื่องมือและเทคโนโลยี และ 6) ด้านการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน โดยสมรรถนะในแต่ละด้านมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ด้านการสืบค้นและการใช้งาน
    ระดับที่จำเป็น คือ สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รู้วิธีใช้ตัวกรองเพื่อจำกัดผลลัพธ์ เช่น การค้นหารูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อรูปแบบอื่น ๆ รู้วิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลต่างๆ รู้วิธีการจัดระบบและแบ่งปันทรัพยากร เช่น เครื่องมือ Bookmarking และตระหนักถึงประเด็นต่างๆ เรื่องลิขสิทธิ์และประเด็นการคัดลอกผลงาน
    สมรรถนะระดับสูง คือ สามารถใช้เครื่องมือสืบค้นขั้นสูงสำหรับระบบห้องสมุด และแหล่งเก็บข้อมูลออนไลน์ได้อย่างชำนาญ และติดตามข้อมูลหรือทรัพยากรเฉพาะด้านได้ เข้าใจข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ ตระหนักถึงสิทธิรูปแบบอื่นๆ เช่น ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) และสามารถเผยแพร่ (รู้วิธี) เผยแพร่และแบ่งปันสิ่งต่างๆ ทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. ด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
    ระดับที่จำเป็น คือ สามารถผลิต (และได้ผลิต) สื่อดิจิทัล เช่น กราฟิก คลิปวิดีโอหรือคลิปเสียง และการบันทึกภาพหน้าจอ สามารถเรียนรู้หลักการพื้นฐานได้ตามคำแนะนำและสามารถทดลองทำได้
    สมรรถนะระดับสูง คือ สามารถผลิต (และได้ผลิต) ทรัพยากรดิจิทัลและมัลติมีเดียเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย รวมถึงการนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิก เสียงและวิดีโอ ฯลฯ รวมทั้งรู้แหล่งที่มาและปรับแต่ง เช่น แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Education Resource: OER) และมีประสบการณ์การใช้เครื่องมือสร้างสรรค์และแก้ไขสื่อแบบปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ
  3. ด้านเอกลักษณ์และคุณภาพชีวิต
    ระดับที่จำเป็น คือ ตระหนักถึงประเด็นความปลอดภัยออนไลน์ รวมถึงการปกป้องข้อมูลและภาพลักษณ์ส่วนตน ใช้คุณลักษณะด้านความปลอดภัย เช่น ซอฟต์แวร์ต้านไวรัสและการตั้งค่าความมั่นคงปลอดภัยบนอุปกรณ์ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวบนสื่อสังคมออนไลน์ รู้จักสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการป้องกันข้อมูลและระมัดระวังไตร่ตรองในการแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทางออนไลน์
  4. ด้านการสอนหรือการเรียนรู้
    ระดับที่จำเป็น คือ สามารถใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายอย่างสะดวกสบายในการเรียนรู้ สามารถติดตั้งและใช้ซอฟต์แวร์รวมถึงแอพพลิเคชันที่เป็นประโยชน์บนอุปกรณ์ส่วนตัวทั้งโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตเพื่อช่วยในการรวบรวมและจัดระเบียบบันทึกข้อมูลในการใช้งานส่วนตน
    สมรรถนะระดับสูง คือ สามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งเครื่องมือสำหรับการอ้างอิง การผลิตงานนำเสนอ การเชื่อมโยงและการแบ่งปันความคิด และแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยทดสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้และความเข้าใจเรื่องที่ศึกษา
  5. ด้านเครื่องมือและเทคโนโลยี
    ระดับที่จำเป็น คือ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลายได้อย่างคุ้นเคย และใช้คำศัพท์เฉพาะได้พอสมควร
    สมรรถนะระดับสูง คือ สามารถติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) การประหยัดพลังงาน (Energy Saving) และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  6. ด้านการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน
    ระดับที่จำเป็น ได้แก่ สามารถใช้เครื่องมือที่หลากหลายได้อย่างสะดวกสบายเพื่อการสนทนาและทำงานร่วมกับผู้อื่นแบบออนไลน์ รวมถึงการแบ่งปันเอกสารและหรือข้อคิดเห็น การประชุมทางไกล (Video Conferencing) และการเข้าร่วมสัมมนาผ่านเว็บไซต์ การสัมมนาผ่านเครื่องมือและช่องทางที่หลากหลาย

 

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัลของนักศึกษาครูมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยแบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ กรอบสมรรถนะด้านที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล กรอบสมรรถนะด้านที่ 2 การเข้าถึงสารสนเทศ กรอบสมรรถนะด้านที่ 3 การสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม กรอบสมรรถนะด้านที่ 4 รู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและใช้ได้อย่างปลอดภัย กรอบสมรรถนะด้านที่ 5 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการสอน กรอบสมรรถนะด้านที่ 6 การติดต่อสื่อสารและการประสานงาน กรอบสมรรถนะด้านที่ 7 การพัฒนาตนและวิชาชีพ และกรอบสมรรถนะด้านที่ 8 จรรยาบรรณในการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (มะยุรีย์ พิทยาเสนีย์ สุภาณี เส็งศรี และเกษทิพย์ ศิริชัยศิลป์, 2563)

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย

  1. ซอฟต์แวร์ประยุกต์พื้นฐาน เช่น เวิร์ดโปรเซสเซอร์ สเปรดชีท และพรีเซ็นเตชั่น
  2. ซอฟต์แวร์ระบบ พื้นฐาน เช่น Windows, ไดร์ฟเวอร์เครื่องพิมพ์
  3. ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แอพพลิเคชั่นบนมือถือ สมาร์ทโฟน
  4. ฮาร์ดแวร์พื้นฐานและส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์
  5. อุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น Flash Drive, Webcam
  6. ระบบเครือข่ายเบื้องต้น
  7. ไวรัสคอมพิวเตอร์
  8. สื่อการสอนคอมพิวเตอร์

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 2 การเข้าถึงสารสนเทศ ประกอบด้วย

  1. การติดต่อสื่อสารผ่าน เครือข่ายชุมชนครูออนไลน์
  2. ฐานข้อมูลเบื้องต้น เช่น ระบบทะเบียนประวัติ
  3. ฐานข้อมูลวิจัยภายในประเทศ เช่น Thalis, Thaijo
  4. ฐานข้อมูลวิจัยภายนอกประเทศ เช่น ERIC, EBSCo
  5. คำค้นหา Keyword
  6. การ Search Engine เช่น Google, Google Scholar
  7. สื่อ Clip ช่วยสอน
  8. สื่อเฉพาะสำหรับครู เช่น Teacher TV

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 3 การสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม ประกอบด้วย

  1. สื่อการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
  2. สื่อ E-Learning
  3. สื่อพรีเซ็นเตชั่น
  4. อธิบายลักษณะการใช้งานของสื่อ VDO
  5. การตัดต่อรูปภาพ เช่น Photoshop
  6. เทคโนโลยีเว็บไซต์
  7. เกมเพื่อการสอน
  8. การคิดอย่างเป็นขั้นตอน คิดวิเคราะห์ คิดมีเหตุมีผล เพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 4 รู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและใช้ได้อย่างปลอดภัย ประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับวัย
  2. แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
  3. การทำงานในสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายจิตใจ
  4. การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์
  5. โปรแกรมลิขสิทธิ์
  6. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
  7. พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์
  8. การจดลิขสิทธิ์สิทธิบัตร

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 5 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสอน ประกอบด้วย

  1. การจัดการเรียนการสอนบนเว็บไซต์
  2. การจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่ม เช่น Facebook
  3. การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เช่น Google Classroom, Edmodo, MOOCs, Moodle
  4. การบันทึกข้อมูลบนเทคโนโลยีคลาวด์ เช่น Google Drive
  5. โปรแกรมคำนวณทางสถิติ เช่น SPSS
  6. การประเมินผลการเรียนการสอนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  7. กลยุทธ์การสอนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  8. การคิดเชิงคำนวณเพื่อแก้ไขปัญหาในสภาพแวดล้อมดิจิทัล

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 6 การติดต่อสื่อสารและการประสานงาน ประกอบด้วย

  1. การส่งข้อความ
  2. เว็บบอร์ดสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน
  3. โปรแกรมสนทนามือถือ เช่น Line, Skype
  4. การรับส่งอีเมล์ การตั้งชื่อเรื่องอีเมล์ การพิมพ์เนื้อความในอีเมล์
  5. การปฏิสัมพันธ์และแรงจูงใจให้กับผู้เรียน
  6. การแบ่งปันทรัพยากร เช่น แชร์ไฟล์ข้อมูล

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 7 การพัฒนาตนและวิชาชีพ ประกอบด้วย

  1. การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนและเพื่อนร่วมงาน
  2. การปฏิบัติหน้าที่ครูในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  3. การนำเสนอตนเองออนไลน์
  4. การใช้งานเอกสารออนไลน์
  5. การใช้งานแบบทดสอบออนไลน์
  6. การใช้งานแบบสอบถามออนไลน์
  7. การใช้งานปฏิทินออนไลน์
  8. การทำผลงานทางวิชาการโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

 

กรอบสมรรถนะด้านที่ 8 จรรยาบรรณในการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย

  1. การละเมิดผลงานผู้อื่น
  2. ประโยชน์ทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  3. โทษทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  4. ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นในสื่อสาธารณะ
  5. ลักษณะของความร่วมมือในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  6. ลักษณะของความเหมาะสมและไม่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
  7. ลักษณะของการเป็นต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย

 

ปัจจุบันเป็นโลกแห่งยุคดิจิทัลที่ผู้เรียนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของครูผู้สอนทุกคนที่จะต้องมีสมรรถนะดิจิทัลเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนหรือจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ติดต่อสื่อสาร และพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมืออาชีพในการจัดการเรียนรู้และจัดกิจกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

References:

  1. คณะกรรมการการอุดมศึกษา. (2561). ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเกี่ยวกับสมรรถนะดิจิทัลสำหรับคุณวุฒิระดับปริญญาตรี. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2565 เข้าถึงได้จาก http://www.thaiall.com/tec/digital_competencies.pdf
  2. มะยุรีย์ พิทยาเสนีย์ สุภาณี เส็งศรี และเกษทิพย์ ศิริชัยศิลป์. (2563). แนวทางการพัฒนาสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัลของนักศึกษาครูมหาวิทยาลัยราชภัฏ. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 9(1), 64–73.
  3. วิชัย วงศ์ใหญ่ และมารุต พัฒผล. 2564. สมรรถนะดิจิทัล Digital Competency. ศูนย์ผู้นำนวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2565 เข้าถึงได้จาก www.curriculumandlearning.com.
  4. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.). 2562. โครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp
  5. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2562). รายงานผลการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น สำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.
  6. OKMD. 2564. 8 ทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2565 เข้าถึงได้จาก https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4673/
  7. UNESCO. (2015). UNESCO Competency Framework. Retrieved December 30, 2020, from https://en.unesco.org/sites/default/files/competency_framework_e.pdf

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต