Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
หลักการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

หลักการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

สวัสดีครับ เรื่องหลักการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจะกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน องค์ประกอบของการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน แนวทางการจัดบรรยากาศทางจิตวิทยา และแนวทางการจัดบรรยากาศทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสม พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้มากเพิ่มขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อผู้เรียน ที่ผู้เรียนกับผู้เรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกัน สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนต้องการ ซึ่งจะทำให้มีความสุขในการมาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ดังนั้น การสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนจะสามารถช่วยส่งเสริมให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ตลอดจนสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียนได้

 

ความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

  1. ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน
  2. ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้หลายด้าน เช่น ทำให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจ กระตุ้นผู้เรียนให้มีความสนใจและเกิดแรงจูงใจในการเรียน เปลี่ยนเจตคติไปในทางที่ดี
  3. ช่วยจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน
  4. ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน
  5. ช่วยในการควบคุมชั้นเรียนให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัย
  6. ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน

 

องค์ประกอบของการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

  1. ครูผู้สอน เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดบรรยากาศในชั้นเรียนและเป็นผู้กำหนดบรรยากาศเกี่ยวกับการเรียนการสอน
  2. ผู้เรียน พฤติกรรมของผู้เรียนเป็นผลมาจากการที่ได้รับและเห็นตัวอย่างจากบุคคลแวดล้อมและจากพฤติกรรมของครู
  3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนจะนำมาซึ่งความร่วมมือและยอมรับซึ่งกันและกัน อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก

 

ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีจะต้องมีลักษณะที่อำนวยความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถสร้างความสนใจใฝ่รู้ให้กับผู้เรียน สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้เรียนและผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง สามารถแบ่งประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. บรรยากาศทางกายภาพ หมายถึง บรรยากาศทางด้านวัตถุ การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น
  2. บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน
  3. บรรยากาศทางสังคม หมายถึง บรรยากาศที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน การทำกิจกรรมกลุ่ม การมอบหมายงานและแบ่งหน้าที่ในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการเคารพในสิทธิและบทบาทหน้าที่ของผู้อื่น

 

แนวทางการจัดบรรยากาศทางจิตวิทยา บรรยากาศทางจิตวิทยา มีความสำคัญต่อการเรียนการสอนอย่างมาก เพราะจะช่วยให้เกิดความราบรื่น มีชีวิตชีวา มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนด้วยกันเอง ตลอดจนเป็นบรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงานของผู้เรียน

แนวทางในการจัดบรรยากาศทางจิตวิทยา มีดังนี้

  1. บรรยากาศความคุ้นเคยหรือความสัมพันธ์ โดยผู้สอนและผู้เรียนเป็นผู้ร่วมกันสร้าง เช่น บุคลิกภาพของผู้สอน การยิ้มแย้มแจ่มใส การแต่งกายสุภาพและสะอาด มีอารมณ์ขัน ท่าทางเหมาะสม การใช้คำพูดเหมาะสม มีน้ำเสียงน่าฟัง ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีความยุติธรรมและให้ความเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ซักถามหรือโต้แย้งอย่างมีเหตุผลและถูกต้องตามกาลเทศะจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความอบอุ่นและสบายใจ
  2. บรรยากาศที่เป็นอิสระ เป็นบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระในการค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง และทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ช่วยสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความเป็นผู้มีคุณลักษณะของนักคิด ใจกว้าง มีเหตุผล ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ไม่ยึดมั่นในความคิดของตนเป็นหลักอย่างเดียว ใฝ่รู้ ไม่ด่วนตัดสินเรื่องใดโดยปราศจากการคิดไตร่ตรอง
  3. บรรยากาศของการยอมรับนับถือ เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนยอมรับนับถือผู้สอนในฐานะเป็นผู้ให้ความรู้และให้คำแนะนำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ และเป็นบรรยากาศที่ผู้สอนจะต้องยอมรับผู้เรียนในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีสติปัญญา ความสามารถ ความถนัดและทักษะที่แตกต่างกัน โดยยอมรับในคุณค่าของผู้เรียนแต่ละคน และนำคุณค่าหรือความสามารถที่แตกต่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือประสานสัมพันธ์กันอันจะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง
  4. บรรยากาศของการควบคุม เป็นบรรยากาศที่ทำให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติของห้องเรียน โดยผู้เรียนมีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนรู้และงานของตนเอง มีความตรงต่อเวลาในการเข้าเรียนและส่งงาน ตลอดจนการแต่งกาย ภาษาท่าทาง วาจาที่ใช้สุภาพและเป็นผู้มีสัมมาคารวะ ให้ตระหนักเสมอว่าการที่ผู้สอนมีความคุ้นเคยเป็นกันเองกับผู้เรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องสร้างให้ผู้เรียนมีความเกรงใจและประพฤติในทางที่เหมาะสมทั้งกาย วาจาและใจ
  5. บรรยากาศของการกระตุ้นความสนใจ เป็นการทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด โดยผู้สอนใช้การเสริมแรงให้ผู้เรียนเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมในทางที่พึงประสงค์ ตามหลักจิตวิทยาที่ว่า ทุกคนมีแรงขับทางปัญญา มีความอยากรู้อยากเห็น มีลักษณะเห็นตนเองสำคัญกว่าคนอื่น ต้องการมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น ผู้สอนจึงสามารถสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ด้วยการกระตุ้นให้เกิดแรงขับทางปัญญา เสนอสิ่งเร้าที่ท้าทายให้ผู้เรียนต้องการทำ ค้นคว้าด้วยความสนใจ ปลูกฝังให้เห็นคุณค่า ความสามารถและทักษะของตนเอง สร้างโอกาสให้ได้แสดงออกเพื่อเป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อน และใช้เทคนิคการเสริมแรงที่เหมาะสมแบบต่าง ๆ ดังนี้
    • การเสริมแรงด้วยวาจา เช่น กล่าวชมเชย ด้วยคำพูดที่ว่า ดี ดีมาก เป็นความคิดที่ดี น่าสนใจ โดยผู้สอนจะต้องพูดให้ตรงกับความเป็นจริงตามสภาพของผู้เรียน
    • การเสริมแรงด้วยท่าทาง เช่น แสดงการยอมรับโดยการพยักหน้า ยิ้มพอใจ ตั้งใจฟัง ปรบมือ ใช้สายตาแสดงความสนใจและพอใจ การสัมผัสกายและแสดงอาการยอมรับ
    • การเสริมแรงด้วยการให้รางวัลและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การให้วัตถุสิ่งของ การนำผลงานมาแสดงและยกย่อง การติดป้ายประกาศเพื่อแสดงผลงาน การให้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์

 

เทคนิคการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา

  1. สร้างบรรยากาศทางบวก เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกยอมรับนับถือและรู้สึกว่าการเรียนในครั้งนั้นมีคุณค่า มีแนวทางดังนี้
    • หลีกเลี่ยงคำพูดว่า ไม่ถูกต้องกับคำตอบของผู้เรียน และควรใช้คำถามเหล่านี้แทน เช่น ทำไมถึงคิดเช่นนั้น หรือสามารถอธิบายในรายละเอียดได้หรือไม่ หรือมีใครมีความคิดเห็นที่ต่างจากนี้บ้าง คำถามเหล่านี้จะเป็นการยอมรับมากกว่า และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม
    • ฟังอย่างระมัดระวังจะสื่อให้เห็นว่ามีการยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน ไม่ขัดจังหวะขณะที่ผู้เรียนพูดหรือแสดงความคิดรวบยอดกับเรื่องที่แสดงความคิดเห็นอยู่
    • ไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดความอับอาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าชั้นเรียน หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนในทางที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับความอับอาย หลีกเลี่ยงการเยาะเย้ยถากถาง เรียกร้องความสนใจหรือทำให้เกิดความรู้สึกไม่สนใจ
    • เมื่อผู้สอนจะเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในทางลบ พยายามอย่าพูดเฉพาะเจาะจงกับผู้เรียนคนใดคนหนึ่งโดยตรงในห้องเรียน ควรเรียกมาพบและให้คำแนะนำส่วนตัวหลังเลิกเรียน
    • กระตุ้นให้ผู้เรียนถาม แสดงความคิดเห็น และปฏิบัติต่อผู้เรียนเสมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง
  2. ให้ความสนใจกับผู้เรียนทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
    • ผู้สอนจะต้องไม่ละเลยผู้เรียนที่เงียบขรึม หรือไม่แสดงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมใดใด
    • ผู้สอนควรตระหนักและระมัดระวังเกี่ยวกับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มเรียนที่อาจจะมีพฤติกรรมในทางลบ ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องมาจากการแต่งกาย เพศ ลักษณะท่าทาง หรืออายุ
    • ผู้สอนต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา หรือลักษณะส่วนบุคคลและลักษณะนิสัยของผู้เรียนแต่ละบุคคลซึ่งจะทำให้ผู้สอนแสดงออกมาในทางที่เป็นอคติกับผู้เรียนหรือทำให้ผู้เรียนไม่ชอบได้ โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะแสดงออกมาแบบไม่รู้ตัว เช่น ไม่เรียกผู้เรียนคนนั้นตอบคำถาม หรือให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือไม่สบสายตากับผู้เรียนเหล่านั้น
  3. ผู้สอนต้องรู้จักผู้เรียนทุกคน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักกันเองในกรณีที่รู้จักกันใหม่ ๆ
    • จำชื่อผู้เรียนให้ได้ ถ้าในห้องเรียนขนาดใหญ่อาจจะขอให้ผู้เรียนนั่งประจำที่เดิมไปก่อนในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก และใช้แผนผังที่นั่ง รูปภาพผู้เรียนพร้อมชื่อกำกับช่วยในการจดจำ
    • เรียนรู้เกี่ยวกับผู้เรียนแต่ละคนและยอมรับข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม เช่น ภูมิลำเนา และความสนใจ
    • เต็มใจที่จะบอกข้อมูลส่วนตัวของผู้สอนให้ผู้เรียนทราบ โดยอาจจะเล่าประสบการณ์และภูมิหลังพอสังเขป ตามวิจารณญาณและความเหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักและรู้สึกเป็นกันเอง

 

แนวทางการจัดบรรยากาศทางสังคม บรรยากาศทางสังคมเป็นบรรยากาศที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกรักที่จะเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย การเรียนรู้ดังกล่าว ได้แก่ การเรียนรู้ด้านความรู้และการเรียนรู้ทางสังคม การจัดบรรยากาศทางสังคมที่สนับสนุนการเรียนรู้ ดำเนินการได้ดังนี้

  1. การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกัน โดยครูต้องกำหนดให้มีอิทธิพลในห้องให้น้อยที่สุด สร้างระบบการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับผู้เรียนด้วยกัน ฝึกการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
  2. การสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ โดยจัดกิจกรรมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เล่น ทำงานและเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน ครูคอยปรับปรุงการใช้ภาษา มารยาทและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถทำงานกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างดี เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำสิ่งต่าง ๆ ในบรรยากาศร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันกันบ้าง แต่ควรเป็นการแข่งขันกันอย่างเป็นมิตร ได้มีโอกาสได้รับผลแห่งการทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งด้านความคิด และการกระทำอันส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป
  3. สร้างบรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ทั้งครูกับผู้เรียน ผู้เรียนด้วยกันและกับบุคคลอื่น ๆ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เริ่มด้วยการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารระหว่างกันนั้นสามารถทำได้ทั้งการใช้วาจา ภาษาท่าทาง และการปฏิบัติต่อกัน ครูมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อกันด้วยดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ครูมีหน้าที่ในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจะต้องเป็นแบบฉบับของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเองกับผู้อื่น
  4. สร้างบรรยากาศที่ไม่กดดัน โดยลดกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขันเพื่อให้เกิดผลแพ้ชนะหรือเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น ให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงออกเท่าเทียมกันและได้รับการยกย่องเหมือนกัน สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ ควรประเมินผลที่แสดงถึงพัฒนาการแห่งความเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ให้ผู้เรียนได้รู้ผลการกระทำของตนเองและมีการพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้อื่น

การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น ครูซึ่งเป็นผู้นำทางการเรียนรู้จำเป็นต้องมีเป้าหมายของการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เพื่อมุ่งสร้างนิสัยการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในการเรียนแต่เพียงอย่างเดียว ควรมุ่งสร้างคุณลักษณะของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งผู้อื่น และการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต