Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
หลักการจัดการชั้นเรียน

หลักการจัดการชั้นเรียน

สวัสดีครับ เรื่องหลักการจัดการชั้นเรียนจะกล่าวถึงความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน หลักการจัดชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี รูปแบบการจัดชั้นเรียน บทบาทในการจัดการชั้นเรียนของครู เทคนิคการปกครองชั้นเรียน และการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

การจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ครูทุกคนจะต้องใช้เพื่อจัดการดูแลสภาพของห้องเรียนให้มีระบบระเบียบที่ดี ซึ่งประกอบด้วยด้านการจัดเตรียมพื้นที่ การจัดวางอุปกรณ์ การวางแผนใช้เวลาหรือการจัดตารางเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การใช้วิธีการในการจัดการพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชั้นเรียน สร้างความร่วมมือ ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ตลอดจนกระตุ้นและเสริมแรงพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนสนใจใฝ่เรียนรู้ และครูสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามแผนจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ณัฐธีรา สมบูรณ์, 2552)

การจัดการชั้นเรียนมีความหมายที่เข้าใจโดยทั่วไปคือเป็นการปกครองชั้นเรียนและการจัดการพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีระเบียบวินัย เคารพในสิทธิและข้อปฏิบัติที่ดีงามร่วมกัน และนอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการจัดสภาพของห้องเรียนทางด้านกายภาพให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่ น่าเรียน

 

ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดการชั้นเรียนมีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนของครูทุกคน ช่วยให้ครูสามารถสร้างระเบียบวินัย จัดการพฤติกรรมของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม และจัดสภาพแวดล้อมภายในชั้นเรียนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น ห้องเรียนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่น่าเรียน และช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน ดังนี้

  1. ส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนไม่คับแคบ ไม่แออัดจนเกินไป ทำให้ผู้เรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  2. ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและสร้างระเบียบวินัยให้กับผู้เรียน เช่น ผู้เรียนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ห้องเรียนสะอาด จัดโต๊ะเป็นระเบียบเรียบร้อย
  3. ส่งเสริมสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เพียงพอ จัดโต๊ะที่นั่งมีระยะห่างจากกระดานได้อย่างเหมาะสม
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความสนใจในการเรียนได้มากขึ้น เช่น การจัดมุมความรู้และวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศแสดงผลงานของผู้เรียน
  5. ส่งเสริมและสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและสร้างแรงจูงใจในการมาเรียนมากขึ้น เพราะในชั้นเรียนที่มีครูเข้าใจผู้เรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อผู้เรียน ผู้เรียนจะมีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

ดังนั้น การจัดการชั้นเรียนที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญ

 

หลักการจัดชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน การจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนและการร่วมกิจกรรมภายในห้องเรียน และนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุด โดยคำนึงถึงหลักการดังนี้

  1. มีความยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม มีพื้นที่ในการเคลื่อนย้ายโต๊ะ เก้าอี้ และทำกิจกรรมได้สะดวก
  2. มีมุมส่งเสริมการเรียนรู้ทุกด้าน จัดให้มีอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม หรือหนังสืออ่านประกอบที่น่าสนใจไว้ตามมุมต่าง ๆ
  3. มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ ก่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้
  4. มีการจัดชั้นเรียนที่ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามให้กับผู้เรียน สร้างระเบียบวินัยที่ดี ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ ช่วยกันรักษาความสะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องเรียน
  5. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ เช่น การจัดโต๊ะเก้าอี้ มุมความรู้ต่าง ๆ ชั้นวางของและหนังสือ แม้แต่การใช้สิ่งของก็ให้ผู้เรียนได้รู้จักหยิบใช้และนำมาเก็บในที่เดิมเพื่อให้ผู้เรียนเคยชินกับความเป็นระเบียบ
  6. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เช่น การทำงานกลุ่มโดยให้มีการหมุนเวียนกลุ่มกันไป เพื่อให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการสลับที่นั่งเพื่อหมุนเวียน
  7. ควรจัดชั้นเรียนให้เอื้อต่อหลักสูตร เน้นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงควรจัดสภาพห้องให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น การจัดที่นั่งในรูปแบบต่าง ๆ

 

ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี ชั้นเรียนที่ดีควรประดับตกแต่งห้องเรียนทางกายภาพให้มีสีสันสวยงาม ดูสบายตา มีอากาศถ่ายเทได้ดี แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีเสียงรบกวน ไม่ร้อนจนเกินไป อากาศไม่เป็นพิษ สะอาดถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียนสามารถเอื้ออำนวยต่อการสอนและการทำกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ผู้เรียนมีความสุข มีอิสระเสรีภาพในการเรียนรู้ และมีวินัยในการดูแลตัวเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น ชั้นเรียนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีบรรยากาศที่ดี ถูกสุขลักษณะ สะอาดมีสีสัน อากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ
  2. จัดโต๊ะ เก้าอี้และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนให้เหมาะสม สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวก
  3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข มีอิสระทางความคิด และมีระเบียบวินัยในตนเอง
  4. สร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง ไม่ตึงเครียด ห้องเรียนน่าอยู่ น่าเรียน ผู้เรียนมีส่วนร่วม
  5. ใช้เทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด
  6. ประยุกต์ใช้ประโยชน์พื้นที่ในชั้นเรียนให้คุ้มค่า สามารถดัดแปลงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ

 

รูปแบบการจัดชั้นเรียน ครูควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการชั้นเรียน เช่น การจัดโต๊ะ เก้าอี้ และมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศของห้องเรียนให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อหน่าย ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนได้ดีขึ้น การจัดชั้นเรียนตามวิธีการสอน สามารถจัดได้ 2 รูปแบบ คือ ชั้นเรียนแบบธรรมดาและชั้นเรียนแบบนวัตกรรม

  1. ชั้นเรียนแบบธรรมดา เป็นชั้นเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ การจัดชั้นเรียนแบบนี้จะมีโต๊ะครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีโต๊ะนักเรียนวางเรียงกันเป็นแถว โดยหันหน้าเข้าหาครู และครูจะเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  2. ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม เป็นชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธีการแบบสอนใหม่ ๆ ซึ่งทำให้นักเรียนจะมีอิสระในการเรียน อาจเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคล โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา การจัดชั้นเรียนจึงมีรูปแบบการจัดโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะต่าง ๆ เช่น จัดเป็นรูปตัวที ตัวยู วงกลม

 

การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของผู้เรียน

  1. ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของผู้เรียน
  2. ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่ผู้เรียนจะลุกนั่งได้สะดวกและทำกิจกรรมได้คล่องตัว
  3. ให้ความสะดวกต่อการทำความสะอาดและการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน
  4. ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลมหรือเข้ากลุ่มเป็นวงกลมได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน
  5. ให้ผู้เรียนที่นั่งทุกจุดมองเห็นและอ่านกระดานได้ชัดเจน แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะจนติดกระดานจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้เรียนต้องแหงนมองกระดานและหายใจเอาฝุ่นชอล์กหรือผงหมึกของปากกาเคมีเข้าไปทำให้เสียสุขภาพ

 

การจัดโต๊ะครู

  1. จัดให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจะเอาไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ จากงานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามการจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของผู้เรียนด้วย
  2. จัดให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะเพื่อสะดวกต่อการนั่งทำงานของครูและการวางสมุดงานของผู้เรียนตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ผู้เรียน

 

การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน

  1. มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้เรียนอ่านคล่อง ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อย ๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบสะดวกต่อการหยิบอ่าน
  2. มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจ เพื่อช่วยเสริมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์
  3. มุมแสดงผลงานของผู้เรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จและมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของผู้เรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย
  4. ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ให้ดูรกรุงรัง
  5. มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้เรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบและหมั่นเช็ดถูให้สะอาดอยู่เสมอ
  6. การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่นิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งประดับต่าง ๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาดหรือใช้สีสะท้อนแสงอาจทำให้ผู้เรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียนควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์และสวยงาม

 

บทบาทในการจัดการชั้นเรียนของครู ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในชั้นเรียน เป็นผู้สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้มีสภาพน่าเรียนรู้ อบอุ่น หรือว่าตึงเครียดน่ากลัว โดยครูต้องทราบความคาดหวังที่นักเรียนมีต่อครูและครูมีต่อนักเรียน โดยครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกทางพฤติกรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การพูด การตรงต่อเวลา ลักษณะบทบาทของครูที่มีต่อการจัดการชั้นเรียนใน 3 ประเภท ได้แก่

  1. ครูประเภทเผด็จการ ครูที่มีลักษณะเช่นนี้มีความเชื่อว่าตนเองมีความรู้เป็นสำคัญทั้งในด้านการบรรยาย การแสดงความคิดเห็นและการกำหนดงานให้นักเรียนทำ นักเรียนมีหน้าที่เชื่อฟังและทำตามกฎระเบียบที่ครูกำหนดเท่านั้น
  2. ครูประเภทปล่อยปละละเลย ครูลักษณะนี้จะมีลักษณะโอนอ่อนผ่อนตามและไม่มีพลังในชั้นเรียนอาจจะมีกฎระเบียบเพียงเล็กน้อย ให้นักเรียนได้ปฏิบัติและไม่ได้ให้ความสนใจกับการที่นักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ การลงโทษของครูประเภทนี้มักจะให้อภัย ไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับนักเรียนที่ประพฤติผิดระเบียบ
  3. ครูประเภทประชาธิปไตย ครูลักษณะนี้จะเป็นผู้มีความมั่งคง มีเหตุผล พร้อมจะตัดสินปัญหาใด ๆ แต่ก็ยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียนผลของการเป็นครูประชาธิปไตยจะเป็นการสร้างพลังของความเชื่อมั่นและความรู้สึกของการเป็นเจ้าของชั้นเรียนให้กับนักเรียน

 

เทคนิคการปกครองชั้นเรียน การควบคุมและปกครองชั้นเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้เรียนมีระเบียบวินัยที่ดีจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันของผู้เรียนได้อย่างมีความสุข เช่น ใช้ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน ยินดีปฏิบัติ เป็นประชาธิปไตย ยุติธรรม ผู้เรียนรู้สึกอบอุ่น สบายใจ รักและศรัทธาต่อครูและเพื่อน ๆ

แนวทางการปกครองชั้นเรียนของครู

  1. การใช้หลักประชาธิปไตย ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียนเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาค ให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันครูต้องใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน และควรฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย
  2. การใช้หลักความยุติธรรม ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะเคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน
  3. การใช้หลักพรหมวิหาร 4 เป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียน ประกอบด้วย
    • เมตตา หมายถึง ความรักและเอ็นดู ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข
    • กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
    • มุทิตา หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ลาภยศ สุข สรรเสริญ
    • อุเบกขา หมายถึง ความเที่ยงธรรม วางตัวเป็นกลาง หรือปล่อยวางในบางเรื่อง
  4. การใช้หลักความใกล้ชิด ครูจะต้องรู้จักนักเรียนในชั้นทุกคน รู้จักชื่อจริง ชื่อเล่น ความสนใจของเด็กแต่ละคน เป็นต้นว่า งานอดิเรก จำนวนพี่น้อง จุดเด่น จุดด้อยของนักเรียนแต่ละคน แสดงความสนใจในสารทุกข์สุขดิบของเด็กแต่ละคน และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา

 

การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียน การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในห้องเรียนจะช่วยก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้เรียนจะสร้างบรรยากาศที่ไม่ตึงเครียด น่าเรียน ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนจะสร้างบรรยากาศที่รื่นรมย์ สมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และปฏิสัมพันธ์ทางวาจา

การสร้างกฎระเบียบร่วมกัน
ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน อาจเริ่มต้นด้วยการกำหนดความคาดหวังของครูที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมของผู้เรียน และกำหนดกฎระเบียบของชั้นเรียนโดยระบุเป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • ข้อความสั้น กระชับ เข้าใจง่ายและครอบคลุม
  • เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกัน
  • ให้ความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ต้องการจะบรรลุเป้าหมาย
  • ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเสนอและปรับเปลี่ยน
  • ควรจะระบุผลที่ตามมาของการไม่ปฏิบัติตามกฎ

 

References:

  1. ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. ณัฐธีรา สมบูรณ์. (2552). ผลการจัดการชั้นเรียนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.
  3. ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการบริหารจัดการชั้นเรียน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
  5. พรรณี ชูทัย. (2522). จิตวิทยาการเรียนการสอน. วรวุฒิการพิมพ์.
  6. พัทยา การะเจดีย์. (2545). เอกสารประกอบการสอนวิชา ศึกษา 363 ประสบการณ์วิชาชีพครู 3 (Professional Experiences for Teacher III). กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร.
  7. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2560). ทักษะ 7C ของครู 4.0 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  8. ศศิธร ขันติธรางกูร. (2551). การจัดการชั้นเรียนของครูมืออาชีพ. วารสารครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, 1(2), 25–28.
  9. วัชรา เล่าเรียนดี ปรณัฐ กิจรุ่งเรือง และอรพิณ ศิริสัมพันธ์. (2560). กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาการคิดและยกระดับคุณภาพการศึกษา สำหรับศตวรรษที่ 21. นครปฐม: บริษัท เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
  10. สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
  11. สุมน อมรวิวัฒน์. (2556). กระบวนการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: ไอเดียสแควร์.
  12. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  13. อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.

Download เอกสารสรุปเนื้อหาประกอบการเรียนรู้

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต