Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
เทคนิคการจัดการเรียนรู้

เทคนิคการจัดการเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องเทคนิคการจัดการเรียนรู้จะกล่าวถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้หรือใช้ในกระบวนการสอน ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้อย่างเหมาะสม พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

เทคนิคการจัดการเรียนรู้เป็นกิจกรรมและกระบวนการของครูผู้สอนซึ่งอาศัยหลักการและเหตุผลที่จะต้องใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ ครูผู้สอนจึงต้องมีหลักการที่ดีและฝึกฝนให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้บรรลุตามจุดมุ่งหมาย เทคนิคการจัดการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สอนทุกคน โดยผู้สอนจะต้องมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ได้เป็นอย่างดีจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอน ดังนั้น ผู้สอนจึงควรตระหนักและฝึกฝนเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

 

1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นกิจกรรมขั้นแรก เมื่อเริ่มกระบวนการเรียนการสอน เป็นการดึงดูดให้ผู้เรียนหันมาสนใจสิ่งที่ผู้สอนกำลังจะสอน การนำเข้าสู่บทเรียนทำได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น

  1. การซักถาม เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาแล้ว หรือซักถามเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์แล้วเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะสอน
  2. การเล่านิทาน เล่าเรื่อง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงไปสู่บทเรียนที่จะสอน
  3. การตั้งปัญหา หรือทายปัญหาเพื่อเชื่อมโยงไปสู่บทเรียนนั้น ๆ
  4. การร้องเพลง นำเพลงที่เกี่ยวข้องมาร่วมร้องหรือให้ผู้เรียนฟังเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน
  5. การแสดงบทบาทสมมุติ ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทที่เกี่ยวกับหัวข้อที่ผู้สอนกำหนดแล้วเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน
  6. การใช้สื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ เช่น รูปภาพ หุ่นจำลอง หรือของจริง

 

2. เทคนิคการอธิบาย การอธิบายเป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนการสอน การอธิบายที่แจ่มแจ้งชัดเจน จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระได้อย่างดี เทคนิคการอธิบายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

  1. การจัดลำดับเรื่องที่อธิบาย โดยเขียนหัวข้อที่จะอธิบายเรียงลำดับไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ และหัวข้อใดที่จะต้องย้ำหรือเน้น หรือมีการสรุป ควรเตรียมไว้เป็นพิเศษ
  2. การอธิบายจะต้องคำนึงถึงน้ำเสียงในการพูด และระดับเสียงให้ได้ยินพอเหมาะกับผู้เรียน ระหว่างอธิบายควรมีการเว้นระยะ ลีลาและความเร็วในการพูดปกติ น้ำเสียงชัดเจน ผู้เรียนฟังแล้วเข้าใจง่าย
  3. ศึกษาระดับของผู้ฟัง เพื่อจะได้ใช้คำอธิบายและใช้ภาษาให้เหมาะสมกับระดับผู้ฟัง เช่น ระดับความรู้ และประสิทธิภาพในการรับรู้
  4. บุคลิกภาพและความมั่นใจของผู้สอน เน้นความน่าเชื่อถือ ความรู้ดี มีความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่อธิบาย และเป็นกันเองกับผู้เรียน

 

3. เทคนิคการใช้คำถาม การใช้คำถาม ถือเป็นความจำเป็นต่อการเรียนการสอนมาก เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การที่ผู้สอนใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ฝึกให้ผู้เรียนรู้จัดคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ผู้สอนควรฝึกทักษะการใช้คำถามโดยใช้ลักษณะคำถามต่อไปนี้

  1. คำถามที่ใช้ความคิดพื้นฐาน เป็นลักษณะคำถามง่าย ๆ เช่น ถามความจำ การสังเกต
  2. คำถามเพื่อการคิดค้น เป็นคำถามลักษณะใช้ความคิดซับซ้อนมากขึ้น เช่น ความเข้าใจในการนำไปใช้ การเปรียบเทียบ หาเหตุและผล สรุปหลักการ
  3. คำถามที่ขยายความคิด เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ความคิดอิสระและกว้างขวาง ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์ เช่น การคาดคะเน วิจารณ์ ประเมินค่า

แนวทางการตั้งคำถามและการใช้คำถามที่ดี

  1. คำถามมีความชัดเจนไม่วกวน
  2. ควรเว้นระยะให้คิด ไม่เร่งรัดคำตอบจนเกินไป
  3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตอบคำถามอย่างทั่วถึง
  4. ให้กำลังใจด้วยการกล่าวชมเชยยกย่อง เสริมแรง
  5. ใช้ท่าทางประกอบ มีจังหวะ การเน้นเสียงในการถาม

 

4. เทคนิคการเร้าความสนใจ การเร้าความสนใจ เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนตื่นตัวและเกิดความพร้อมในการเรียน ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนและขั้นสอนต้องมีการเร้าความสนใจเป็นระยะ ๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดอารมณ์ร่วมในการเรียนรู้ เกิดความสนใจในการติดตามกิจกรรมการเรียนการสอนโดยตลอด สามารถทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น

  1. การใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ
  2. การแสดงท่าทางประกอบการสอน
  3. การเล่าเรื่องสั้น ๆ ประกอบเรื่องราว
  4. การตั้งโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์เพื่อเร้าความสนใจ

 

5. เทคนิคการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องเป็นวิธีการใช้ทักษะจากการนำเรื่องราว เช่น นิทาน ประวัติศาสตร์หรือสถานการณ์มาเล่าให้ผู้เรียนฟัง เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบเรื่องราวหรือเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและเพลิดเพลิน และยังสามารถใช้เพื่อให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และประเมินค่าจากเรื่องเล่านั้น โดยเทคนิคที่ใช้สำหรับประกอบการเล่าเรื่อง ได้แก่

  1. การใช้ภาษาและน้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องเพราะจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ เกิดความสนใจหรืออยากฟังเรื่องราวไปโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่
  2. การใช้ท่าทางประกอบการเล่าเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมให้เกิดความน่าสนใจในตัวผู้เล่า
  3. การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี มีความสนุกสนาน และผ่อนคลายความดึงเครียดของผู้ฟัง
  4. การใช้สื่อหรืออุปกรณ์ประกอบการเล่าเรื่องจะช่วยกระตุ้นความน่าสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระและทำให้รู้สึกไม่เบื่อหน่ายในบทเรียน

 

6. เทคนิคการยกตัวอย่าง การยกตัวอย่าง หมายถึง การที่ครูใช้ตัวอย่างซึ่งอาจจะมาจากครูหรือนักเรียน เพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจหรือได้แนวคิดในสิ่งที่เป็นนามธรรม ตัวอย่างอาจเป็นแบบนิรนัยและอุปนัย นิทาน แผนภูมิ ภาพและอื่น ๆ ที่จะช่วยให้สิ่งที่เป็นนามธรรมนั้นกระจ่างขึ้น ตัวอย่างที่ดีควรเป็นสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคย ครูควรจะเชื่อมโยงจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้

ประเภทของการยกตัวอย่าง

  1. ยกตัวอย่างแบบอุปนัย ผู้สอนจะยกตัวอย่างก่อนหลาย ๆ ตัวอย่างให้ผู้เรียนศึกษาตัวอย่างแล้ววิเคราะห์สรุปเป็นหลักเกณฑ์หรือแนวคิด
  2. ยกตัวอย่างแบบนิรนัย ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน 3 ขั้น คือขั้นแรก ผู้สอนระบุกฎหรือหลักที่ให้ผู้เรียนเข้าใจก่อน ขั้นที่สอง ผู้สอนยกตัวอย่างต่าง ๆ ที่จะช่วยขยายความหลักที่ให้ ขั้นสาม ครูสัมพันธ์ตัวอย่างเข้ากับหลักที่ให้ไว้ตอนต้น
  3. ยกตัวอย่างโดยใช้นิทาน ผู้สอนเนื้อหาสาระด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ การสอนโดยตรงย่อมไม่น่าสนใจเท่ากับการใช้นิทานเรื่องเล่าประกอบการสอนหรือใช้แทรกในระหว่างการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

 

7. เทคนิคการสรุปบทเรียน การสรุปบทเรียน เป็นการทำให้ผู้เรียนสามารถรวบรวมความคิดความเข้าใจของตนให้ตรงกันและถูกต้อง เป็นการรวบรวมสาระ ใจความสำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยกระทำหลังการสอนทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นการสรุปเนื้อหาสาระหรือใจความสำคัญที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปแล้ว และโดยทั่วไปการสรุปบทเรียนนั้นกระทำหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จแล้ว

การสรุปบทเรียนสามารถทำได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. การสรุปเรื่องหรือใจความสำคัญเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น สามารถเชื่อมโยงความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกันได้
  2. การสรุปแนวคิดเห็นของผู้เรียน เกี่ยวกับความสำเร็จการเรียน ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรค เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า

การสรุปบทเรียนผู้สอนสามารถเลือกได้หลายวิธี ดังนี้

  1. สรุปจากการตั้งคำถาม โดยซักถามในสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนสรุปสาระสำคัญได้หรือไม่
  2. สรุปโดยใช้สื่อการเรียนการสอน เช่น การใช้แผนภูมิ บัตรคำ
  3. สรุปจากประสบการณ์ของผู้เรียน เช่น จากการสังเกต การทดลอง หรือการสาธิต โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความรู้ที่ได้เรียนจบไปและสิ่งที่จะเรียนในอนาคต
  4. สรุปจากการสร้างสถานการณ์ โดยผู้สอนสมมติสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นมาแล้วลองให้ผู้เรียนนำความรู้ที่เรียนมาแก้ปัญหา

ทั้งนี้ การสรุปบทเรียนอาจใช้วิธีแตกต่างกันไปตามที่ผู้สอนเห็นว่าเหมาะสมกับบรรยากาศในการสอนเพื่อเป็นการทบทวนความคิดความเข้าใจของผู้เรียนให้ตรงกันและถูกต้อง

 

8. เทคนิคการเสริมกำลังใจ เทคนิคการเสริมกำลังใจจะช่วยให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจและอยากเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน และอยากทำงานให้ดีที่สุด วิธีการเสริมกำลังใจทำได้โดย

  1. การเสริมกำลังใจด้วยวาจา ได้แก่ การใช้วาจาในการยกย่องชมเชย เช่น การพูดกล่าวชมเชยว่าดี ดีมาก เก่งมาก

  2. การเสริมกำลังใจด้วยกิริยาท่าทาง ได้แก่ การใช้ท่าทางแสดงความพอใจ เช่น การยิ้ม การพยักหน้า การใช้สายตาแสดงความสนใจ การปรบมือ การยกนิ้วให้
  3. การเสริมกำลังใจด้วยการให้ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าของตนเอง เช่น เมื่อให้ปฏิบัติงาน ควรได้รับการตรวจและทราบผลการปฏิบัติงานในทันที เพื่อเป็นกำลังใจหรือปรับปรุงพัฒนาต่อไป
  4. การเสริมกำลังใจโดยการให้รางวัลด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การเขียนเครื่องหมายถูกลงในสมุดแบบฝึกหัด การให้สิ่งของรางวัลเมื่อผู้เรียนทำได้ถูกต้อง หรือทำคะแนนได้สูง

การเสริมกำลังใจเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้เรียนมีความอยากเรียนมากยิ่งขึ้น ผู้สอนควรจะนำเทคนิคการเสริมกำลังใจไปใช้โดยคำนึงถึงหลักการ ดังนี้

  1. ควรมีการเสริมกำลังใจทันทีเมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ดี หรือเป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนการสอน
  2. เลือกวิธีการเสริมกำลังใจให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
  3. เลือกใช้วิธีการเสริมกำลังใจที่หลากหลาย ทั่วถึง จริงจังและสม่ำเสมอ
  4. ไม่ควรให้การเสริมกำลังใจจนเกินความเป็นจริง หรือพร่ำเพรื่อเกินไป

 

9. เทคนิคการใช้วาจา กิริยาท่าทาง การใช้วาจา กิริยาท่าทางประกอบการสอนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนมีชีวิตชีวา สามารถช่วยกระตุ้นความสนใจจากผู้เรียนได้ดี

  • การใช้วาจา กิริยาท่าทาง ได้แก่ การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้สอน การเข้าไปยืนใกล้ผู้เรียน การเปลี่ยนทิศทางการยืนขณะที่สอนหรืออธิบาย การเดินไปสังเกตเมื่อผู้เรียนทำงานหรือกิจกรรม
  • บุคลิกภาพที่ดีของผู้สอนทั้งภายนอกและภายในก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ สร้างความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความตั้งใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

10. เทคนิคการใช้กระดาน กระดานในปัจจุบันอาจใช้กระดานอย่างอื่น เช่น ไวท์บอร์ด สมาร์ทบอร์ดหรือกระดานอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ดังนั้น ผู้สอนจึงควรฝึกเทคนิคการใช้กระดานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด โดยฝึกการใช้กระดานให้มีระเบียบเพราะการใช้กระดานสามารถใช้ได้ตลอดกิจกรรมทั้งการนำเข้าสู่บทเรียน การอธิบาย ใช้ติดรูปภาพ สื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตลอดจนสรุปหรือทบทวนบทเรียน

ข้อควรคำนึงในการใช้กระดาน

  1. ลบกระดานให้สะอาดก่อนใช้
  2. เขียนจากซ้ายมือไปขวามือ
  3. เขียนให้ตรงบรรทัด
  4. แบ่งกระดานเป็นสัดส่วน
  5. เขียนเฉพาะสรุปสาระสำคัญ
  6. เขียนให้เป็นระเบียบ อ่านง่าย
  7. เขียนด้วยตัวบรรจง
  8. ใช้แปรงลบกระดาน และลบไปในทางเดียวกัน
  9. ใช้ไม้ชี้กระดานแทนการใช้มือเพื่อไม่ให้บังผู้เรียน
  10. ตรวจสอบความถูกต้องหลังการเขียนเสร็จแล้ว

 

นอกจากมีเทคนิคการสอนที่ดีทั้ง 10 เทคนิควิธีการดังที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ครูผู้สอนควรมีทักษะกระบวนการที่ดีดังนี้

  1. จัดการเรียนรู้ด้วยความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มีความคล่องแคล่วในการแสดงออกพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างสอดคล้องเหมาะสม ราบรื่น ไม่ติดขัด เช่น การพูด การอธิบาย การถามคำถาม การเขียนกระดาน การใช้สื่อการเรียนรู้ ทุกพฤติกรรมครูสามารถแสดงออกด้วยความมั่นใจ ไม่ขัดเขินหรือเกิดความลังเลไม่แน่ใจ ช่วยให้การจัดการเรียนรู้นั้นสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อย
  2. จัดการเรียนรู้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ มีความถูกต้องแม่นยำทั้งด้านเนื้อหาสาระและวิธีการ โดยเนื้อหาสาระหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จัดให้แก่ผู้เรียนมีความถูกต้องตรงตามหลักการ ทฤษฎี ผู้สอนสามารถให้เนื้อหาสาระที่ถูกต้องได้ครอบคลุมขอบข่ายของวิชา และมีความแม่นยำในการให้เนื้อหา โดยไม่ต้องดูหรืออ่านจากเอกสารประกอบตลอดเวลา
  3. จัดการเรียนรู้แล้วบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่เหมาะสม ผู้สอนที่มีทักษะการจัดการเรียนรู้จะทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีและเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนและต่อผู้สอน เกิดทักษะในการคิดค้นคว้าและลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามที่ผู้สอนมอบหมาย ตลอดจนช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน

 

โดยคุณลักษณะที่สำคัญของพฤติกรรมผู้มีทักษะการสอนที่ดีจะต้องมี 4 กระ ได้แก่ กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง กระจ่าง และกระบวนการ

  1. กระตือรือร้น คือ พฤติกรรมความตั้งใจในการจัดการเรียนรู้และมีเทคนิคในการกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจในการเรียนรู้ตลอดจนจบชั่วโมงสอน
  2. กระฉับกระเฉง คือ พฤติกรรมการแสดงออกที่คล่องแคล่ว ไม่เฉื่อยชา แสดงออกด้วยความมั่นใจทั้งอากัปกิริยา คำพูดและวิธีการจัดการเรียนรู้
  3. กระจ่าง คือ ความสามารถในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างกระจ่างแจ้ง สามารถถ่ายทอดหรืออธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ชัดเจนถูกต้องอย่างสมบูรณ์
  4. กระบวนการ คือ มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน ไม่สับสน ไม่ขัดแย้ง และสามารถดำเนินกิจกรรมจนเสร็จสิ้นกระบวนการ บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

References:

  1. ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
  3. พัทยา การะเจดีย์. (2545). เอกสารประกอบการสอนวิชา ศึกษา 363 ประสบการณ์วิชาชีพครู 3 (Professional Experiences for Teacher III). กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร.
  4. พิณสุดา สิริธรังศรี. (2560). ความรู้ ความคิด ทักษะและคุณธรรมของครู. ในความเป็นครูและการพัฒนาครูมืออาชีพ (บรรณาธิการ โดย ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และนักรบ หมื่นลี้). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2560). ทักษะ 7C ของครู 4.0 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  6. วัชรา เล่าเรียนดี ปรณัฐ กิจรุ่งเรือง และอรพิณ ศิริสัมพันธ์. (2560). กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาการคิดและยกระดับคุณภาพการศึกษา สำหรับศตวรรษที่ 21. นครปฐม: บริษัท เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
  7. สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
  8. อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.

Download เอกสารสรุปเนื้อหาประกอบการเรียนรู้

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต