Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
วิธีการจัดการเรียนรู้

วิธีการจัดการเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องวิธีการจัดการเรียนรู้จะกล่าวถึงวิธีการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้หรือจัดการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลายวิธี พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

วิธีจัดการเรียนรู้หรือวิธีการสอน เป็นวิธีการหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้สอนนำมาใช้สอนผู้เรียน เพื่อการสอนมีประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ โดยผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจมีเทคนิค รวมทั้งมีทักษะในการนำวิธีการหรือกระบวนการสอนเหล่านั้นมาใช้ในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี แนวทางจัดการเรียนรู้มี 2 วิธี คือ จัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center) และจัดการเรียนรู้แบบผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Teacher Center)

 

1. การจัดการเรียนรู้แบบบรรยาย การจัดการเรียนรู้แบบบรรยายหรือวิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture) เป็นการสอนแบบที่ครูเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นผู้พูด ผู้บอกเล่าหรืออธิบายเนื้อหา หรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้เรียนฟัง เป็นการเรียนการสอนแบบทางเดียว คือ จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน วิธีสอนแบบบรรยาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อ

  1. ช่วยนำทางในการอ่านหนังสือของผู้เรียน
  2. ประหยัดเวลาในการค้นคว้าและทดลองบางเรื่อง
  3. ใช้ในการตอบคำถามหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
  4. ต้องการสรุปบทเรียน หรือทบทวนบทเรียนที่เรียนไปแล้ว
  5. ใช้อธิบายเรื่องราวที่ยาก ๆ หรือบทเรียนที่ต้องมีการอธิบายเพื่อแนะนำให้ผู้เรียนเข้าใจ

 

2. การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย การจัดการเรียนรู้แบบอภิปรายหรือวิธีสอนแบบอภิปราย (Discussion) มีลักษณะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนพิจารณาปัญหาที่จะหาคำตอบจากหลายๆ ความคิด เสนอประเด็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ผู้เรียนเป็นคนตั้งคำถาม ตอบคำถาม โต้แย้ง และสนับสนุนระหว่างผู้เรียนเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้สร้างบรรยากาศและคอยเสริมสรุปประเด็น แนะนำให้ผู้เรียนเห็นแนวทางแก้ปัญหา คอยกำกับดูแลให้การอภิปราย ดำเนินไปอย่างตรงเป้าหมาย

รูปแบบวิธีการอภิปราย

  1. การอภิปรายแบบทั้งชั้น ผู้สอนทำการอภิปรายในลักษณะไม่เป็นทางการ
  2. การอภิปรายแบบโต้วาที ใช้กรณีที่มีผู้เรียนจำนวนไม่มากนักแบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 ฝ่าย โดยให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน
  3. การอภิปรายเป็นคณะ ผู้สอนแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆละ 3-6 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับหัวข้อไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาอภิปรายในกลุ่ม แล้วรวบรวมนำเสนอผลการอภิปรายกลุ่ม
  4. การอภิปรายย่อย แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มขนาดเล็ก อภิปรายเวลาสั้น ๆ ในหัวข้อที่กำหนด เมื่ออภิปรายในกลุ่มเสร็จแล้ว แต่ละกลุ่มจะนำเสนอผลการอภิปรายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายทั้งชั้นอีกครั้ง
  5. การอภิปรายกลุ่มใหญ่ กรณีมีผู้เรียนไม่มากนักในการเสนอสาระข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เรียนรอบรู้หรือเชี่ยวชาญต่อกลุ่มใหญ่ โดยการสรุปผล ผู้เสนอสาระข้อมูลต่าง ๆ จะเปิดโอกาสเชิญชวนให้ผู้ฟังถามคำถามในเรื่องที่ได้เสนอไป

 

3. การจัดการเรียนรู้โดยการแสดงบทบาทสมมติ การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) เป็นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากการเลียนแบบบุคลิกลักษณะ การกระทำของบุคคลในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง รวมไปถึงการแสดงละครเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ และวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การอภิปรายและสรุปเกี่ยวกับสภาพการณ์หรือปัญหาที่เป็นมา ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ประเภทการแสดงบทบาทสมมติ

  1. ผู้แสดงจะต้องแสดงบทบาทของคนอื่นโดยละทิ้งแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง จะพูด คิด ประพฤติ หรือมีความรู้สึกเหมือนกับบุคคลที่ตนสวมบทบาท
  2. ผู้แสดงจะยังคงรักษาบทบาทและแบบแผน พฤติกรรมของตนเอง แต่ปฏิบัติอยู่ในสถานการณ์ที่อาจพบในอนาคต

ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการแสดงบทบาทสมมติเมื่อมีจุดมุ่งหมายดังนี้

  1. ต้องการพัฒนาเจตคติของผู้เรียน
  2. ให้ผู้เรียนได้พัฒนาบุคลิกลักษณะที่พึงประสงค์
  3. ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้สึก ความคิดเห็นในการแก้ปัญหา การตัดสินใจและการปรับพฤติกรรมของตนเอง
  4. ฝึกให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมองโลกในแง่ดี มีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่นและของตนเองมากขึ้น

 

4. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมจำลองสถานการณ์ การสอนโดยใช้เกมจำลองสถานการณ์ (Simulation Gaming) เป็นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนามาจากการแสดงบทบาทสมมติ การจำลองสถานการณ์ และการเล่นเกมไว้ด้วยกัน โดยนำเกมเข้ามาใช้ควบคู่กับการสอน กำหนดสถานการณ์จำลอง กำหนดกติกาสำหรับเกม แล้วแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเข้าไปแข่งขันหรือเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น

 

5. การจัดการเรียนรู้โดยใช้การระดมความคิด การสอนโดยใช้การระดมความคิด (Brainstorming) หรือการระดมสมอง เป็นการสอนแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาให้มากที่สุด ผู้สอนจะเป็นผู้ชี้แนะหรือบอกแนวทางการค้นพบความรู้ ผู้เรียนจะต้องนำสิ่งที่ได้มาระดมความคิด และสรุปรวมให้ได้ว่ารายละเอียดควรเป็นอย่างไร

 

6. การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน การสอนแบบศูนย์การเรียน (Learning Center) เป็นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ยึดหลักการจัดสภาพแวดล้อม เน้นการใช้สื่อการสอนหลายอย่าง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองด้วยการปฏิบัติกิจกรรมจากชุดการสอนในแต่ละกลุ่ม แบ่งกลุ่มเพื่อปฏิบัติกิจกรรมของแต่ละศูนย์การเรียน ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนโดยทั่วถึงกัน ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสค้นหาคำตอบด้วยตนเอง และสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนได้ การสอนแบบศูนย์การเรียน ครูจะจัดเตรียมเนื้อหาวิชาไว้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า โดยอาจจะจัดไว้เป็นชุด เรียกว่าชุดการสอน ประกอบด้วยจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม หัวข้อที่จะต้องเรียน เนื้อหาวิชา วิธีสอน กิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติ สื่อการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งบัตรคำสั่งต่าง ๆ สำหรับให้ผู้เรียนปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งแต่ละชุด การสอนจะมีความสมบูรณ์ในตัวเอง และจะต้องจัดไว้ให้พอเพียงกับจำนวนของผู้เรียน

 

7. การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน การสอนแบบสืบสวนสอบสวนหรือสืบเสาะแสวงหาความรู้ (Inquiry) เป็นวิธีสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นกระบวนการฝึกผู้เรียนให้รู้จักและมีทักษะในการใช้ความคิดพิจารณาอย่างมีระบบ เพื่อแสวงหาความจริง โดยคิดอย่างมีวิจารณญาณรอบคอบ เพื่อที่จะนำไปสู่การหาเหตุผล วิเคราะห์ วิจัย และประเมินค่าเพื่อให้ได้ผลสรุปที่ต้องการ หรือสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ ประกอบด้วย การตั้งปัญหา การตั้งสมมติฐาน การออกแบบทดลอง การพิสูจน์สมมติฐาน การสรุปผล และการนำไปใช้

ขั้นที่ 1 การตั้งปัญหา ผู้เรียนจะเริ่มต้นตั้งปัญหาในสิ่งที่ตนอยากจะรู้ ซึ่งปัญหานั้น ๆ อาจจะได้มาจากการสอนของผู้สอน เช่น ผู้สอนเสนอปัญหาเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนหรือปัญหาที่พบจากการทดลอง หรือปัญหาที่พบจากบทเรียน เป็นต้น

ขั้นที่ 2 การตั้งสมมติฐาน เมื่อมีปัญหาแล้วผู้เรียนช่วยกันคิดหาคำตอบโดยอาศัยเหตุผลประกอบว่า คำตอบควรจะเป็นอะไรบ้าง คำตอบเหล่านี้เรียกว่า สมมติฐานซึ่งอาจจะเป็นสมมติฐานที่ถูกหรือผิดก็ได้

ขั้นที่ 3 การออกแบบทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐาน เป็นการคิดหาวิธีการที่ จะทำการทดลองเพื่อที่จะให้ได้ผลออกมา ซึ่งผลที่ได้นั้นอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ก็ได้แต่จะทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดค้น

ขั้นที่ 4 การพิสูจน์สมมติฐาน เป็นการพิสูจน์ว่าสมมติฐานใดเป็นไปได้การพิสูจน์สมมติฐานนี้อาจจะทำได้โดยการทดลองหรือระดมความคิด

ขั้นที่ 5 การสรุปผล เป็นขั้นที่สำรวจดูว่าสมมติฐานใดที่พิสูจน์แล้วถูกต้องสอดคล้องกับปัญหาที่ตั้งไว้ ก็จะได้อภิปรายตัดสินและสรุปผล ซึ่งจะได้คำตอบของปัญหาที่ต้องการ

ขั้นที่ 6 การนำไปใช้ เป็นขั้นที่นำผลการสรุปไปประยุกต์ใช้ โดยครูอาจให้ผู้เรียนแก้ปัญหา สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยใช้แนวคำตอบที่ได้จากการสรุปผลของการสืบสวนสอบสวนนั้น

จากขั้นตอนการสอน ทั้ง 6 ขั้นตอน ผู้เรียนจะเป็นผู้ดำเนินการในการแก้ปัญหาทั้งหมด ผู้สอนเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกในการเรียนเท่านั้น และช่วยในการปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผู้สอนจะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้เรียนในการดำเนินการแก้ปัญหาเมื่อผู้เรียนเกิดติดขัด โดยอาจใช้คำถาม ถามเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนคิดเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งได้ผลสรุปที่ต้องการ

 

8. การสอนแบบปฏิบัติการทดลองหรือแบบปฏิบัติการ (Laboratory) เป็นการสอนที่เน้นการกระทำกิจกรรมที่ใช้ประสบการณ์ตรง เพื่อให้ได้ผลผลิตหรือข้อเท็จจริงจากการสืบสวนค้นคว้า ทดลอง และสังเกตเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มฝึกปฏิบัติการใช้ทฤษฎีโดยผ่านการสังเกตภายใต้สภาพที่ควบคุมไว้ การสอนแบบปฏิบัติการทดลอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อ

  1. ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ตรงโดยการสังเกตและทดลอง
  2. ให้ผู้เรียนมีทักษะคล่องแคล่วในการนำไปใช้
  3. ให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ
  4. เป็นการเร้าความสนใจบทเรียน เพราะผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและเป็นการเรียนด้วยการกระทำ
  5. ให้ผู้เรียนรู้จักการแก้ปัญหาในสภาพการณ์ต่าง ๆ

 

9. การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย การสอนแบบนิรนัยหรืออนุมาน (Deductive) เป็นการสอนจากกฎเกณฑ์ไปหาตัวอย่าง โดยที่ผู้เรียนจะเรียนรู้หลัก กฎเกณฑ์ สูตร นิยาม ทฤษฎี หรือหลักความจริงโดยทั่วไปก่อน แล้วจึงมีการศึกษา ยกตัวอย่างหรือพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริง แล้วนำหลักการหรือทฤษฎีนั้นไปประยุกต์ใช้ต่อไป

 

10. การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย การสอนแบบอุปนัยหรืออุปมาน (Inductive) เป็นการสอนจากตัวอย่างไปสู่การสรุปกฎเกณฑ์หรือหลักทั่วไป หรือเป็นการสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ การสอนแบบนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักค้นหาข้อเท็จจริง และหลักการต่าง ๆ จากการสังเกตตัวอย่างที่สัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ

 

11. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน วิธีสอนแบบโครงงาน (Project) เป็นวิธีสอนที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติจริง ในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น โดยมีครูเป็นผู้คอยกระตุ้นแนะนำ รวมทั้งการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ประเภทของโครงงาน

  1. การประดิษฐ์คิดค้น
  2. การค้นคว้าทดลอง
  3. การสำรวจรวบรวมข้อมูล
  4. การศึกษาความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่
ขั้นตอนการจัดทำโครงงาน
  1. การคิดและเลือกหัวข้อเรื่อง
  2. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  3. การเขียนเค้าโครงงานการดำเนินงาน
  4. การปฏิบัติโครงงาน
  5. การเขียนรายงาน
  6. การแสดงผลงาน และการประเมินโครงงาน

 

12. การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT วิธีสอนแบบ 4 MAT เป็นนวัตกรรมการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิด ในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เป็นคนดีมีปัญญา เน้นการพัฒนาสมอง 2 ซีก ได้แก่ ความสามารถของสมองซีกขวาและความสามารถของสมองซีกซ้าย

กระบวนการจัดการเรียนรู้ได้แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน

  1. ขั้นตอนที่ 1 การนำเสนอประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรื่องที่เรียน
  2. ขั้นตอนที่ 2 การเสนอเนื้อหา สาระ ข้อมูลแก่ผู้เรียน เป็นการเชื่อมโยงการ เรียนรู้จากขั้น 1 มาสู่การสร้างความคิดรวบยอดเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสิ่งที่เรียนนั้นคืออะไร
  3. ขั้นตอนที่ 3 การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอด เป็นการพัฒนาความคิดรวบยอดมาสู่การปฏิบัติจริง เป็นการหาคำตอบว่าจะทำได้อย่างไร
  4. ขั้นตอนที่ 4 การนำความคิดรวบยอดไปสู่การประยุกต์ใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะนำไปใช้ในชีวิตจริงแล้วเป็นอย่างไร

 

13. การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Co-Operative Learning) เป็นการให้ผู้เรียน ทำงานร่วมกันและช่วยเหลือกันในชั้นเรียน ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ดี เพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้เรียนจะเรียนด้วยการลงมือกระทำ ผู้เรียนที่มีจุดบกพร่องจะได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม ความมุ่งหมายของการเรียนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน คือการให้สมาชิกทุกคนใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการทำงานกลุ่ม

แนวคิดหลักที่จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผล

  1. การจัดกลุ่ม
  2. ความมุ่งมั่น
  3. การจัดการ
  4. ทักษะทางสังคม
  5. กฎพื้นฐาน 4 ข้อ (ช่วยเหลือ ยอมรับ เสมอภาค ปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง)
  6. รูปแบบกิจกรรม (สลับสับเปลี่ยน ทนายช่างซัก ซักไซ้ไล่เรียง อัศวินโต๊ะกลม หมู่ - คู่ - เดี่ยว ค้นหากติกา รวมหัวคิด)

 

14. การจัดการเรียนรู้แบบซิปปา วิธีสอนแบบซิปปา (CIPPA Model) มีจุดเน้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
C มาจาก Construct หมายถึง การสร้างความรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ความรู้
I มาจาก Interaction หมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
P มาจาก Physical Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมทางร่างกาย เช่น กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย
P มาจาก Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
A มาจาก Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการสอนตามหลักซิปปา

  1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน เช่น การซักถามประสบการณ์
  2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
  3. ขั้นศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เช่น การให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดแก้ปัญหา
  4. ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เพื่ออาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ และขยายความรู้ให้กว้างขึ้น
  5. ขั้นสรุปผลและจัดระเบียบความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย เช่น ให้ผู้เรียนสรุปประเด็นสำคัญด้วยมโนทัศน์
  6. ขั้นแสดงผลงาน เพื่อให้โอกาสผู้เรียนได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนด้วยการรับรู้ข้อมูลย้อนกลับจากผู้อื่น เช่น การจัดนิทรรศการ การเขียนเรียงความ การวาดภาพ หรือการแสดงบทบาทสมมุติ
  7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจและชำนาญ

 

15. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ วิธีสอนแบบบูรณาการ (Integrated) เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิม และประสบการณ์ใหม่ และเป็นประสบการณ์ตรงที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในวิชาการหลาย ๆ แขนงในลักษณะสหวิทยาการ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ กระบวนคิด กระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการแสวงหาความรู้ ที่เชื่อมโยงทั้งหลักสูตรและวิธีการการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนแนวคิดของผู้เรียนเพื่อให้เกิดความรู้แบบองค์รวม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

วิธีสอนแบบบูรณาการทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยครูคนเดียวสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียว
  2. การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ ครูคนเดียวสอนหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือครูหลายคนสอน บูรณาการในลักษณะที่ครูจะต้องยึดมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่งเป็นแกน แล้วรวบรวมเนื้อหาสาระของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงมาอยู่ภายใต้หัวเรื่องการเรียนรู้เดียวกัน
วิธีสอนแบบบูรณาการมีขั้นตอนดังนี้
  1. กำหนดหัวข้อสาระการเรียนรู้
  2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
  3. กำหนดเนื้อหาของเรื่อง
  4. กำหนดขอบเขตการเรียนรู้
  5. ดำเนินกิจกรรม
  6. ประเมินผล

 

16. การจัดการเรียนรู้แบบใช้เส้นเล่าเรื่อง วิธีสอนแบบเล่าเรื่อง (Story Line) เป็นวิธีสอนวิธีหนึ่งที่จะจัดเนื้อหาสาระ ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในหลักสูตรมาบูรณาการกัน โดยใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้ใดกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่งเป็นแกนเรื่อง เป็นการสมมติเรื่องราวหรือสถานการณ์ขึ้นให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่จะเรียน โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนใช้ประสบการณ์ใช้ความรู้มาแก้ปัญหา เป็นการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนแก้ปัญหาจากสถานการณ์สมมติไปสู่การแก้ปัญหาในชีวิตจริง และจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนรู้จักวิเคราะห์ปัญหาและส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
หลักการจัดการเรียนรู้โดยใช้เส้นเล่าเรื่อง มีดังนี้

  1. สร้างหน่วยการเรียน
  2. สร้างสถานการณ์หรือเรื่องราวจากหน่วยการเรียน
  3. การจัดการเรียนรู้ต้องจัดทำเส้นทางการดำเนินเรื่อง คำถามนำ กิจกรรม สื่อการเรียนรู้ และลักษณะการเรียนโดยทำเป็นแผนการเรียนรู้
  4. การสอนตามแผนการเรียนรู้จะแบ่งเวลาการเรียนตามเส้นทางการดำเนินเรื่อง

 

17. การจัดการเรียนรู้แบบปุจฉาวิสัชนา วิธีสอนแบบปุจฉา-วิสัชนา (Questioning-Answering) เป็นการเรียนรู้แบบถามตอบ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิดและรู้จักหาคำตอบด้วยตนเอง การใช้วิธีสอนแบบปุจฉา-วิสัชนาช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ วิจารณ์

 

18. การจัดการเรียนรู้แบบโครงสร้างความรู้ วิธีสอนแบบโครงสร้างความรู้หรือแผนผังความคิด (Graphic Organizer) เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลหรือความรู้จากการศึกษาค้นคว้า การอ่าน การฟังคำ บรรยาย แล้วนำข้อมูลมาจัดกลุ่ม เขียนเป็นภาพแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างความคิด กระบวนการคิด และความสัมพันธ์ของกระบวนการคิด โดยใช้รูปภาพ แผนภาพหรือสัญลักษณ์เป็นสื่ออธิบายความคิด

  1. แผนผังความคิด (Mind Mapping) เป็นรูปแบบที่ใช้แสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ระหว่างการคิด กระบวนการคิดและความสัมพันธ์ของกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นจนจบ
  2. ผังแสดงความสัมพันธ์แบบโครงสร้างต้นไม้ (Tree Structure) จะใช้ในการแสดงความสัมพันธ์ของเรื่องที่มีความสำคัญลดหลั่นกันเป็นลำดับ วิธีการเขียนให้เริ่มต้นหัวข้อเรื่องไว้ข้างบน หรือตรงกลาง แล้วลากเส้นให้เชื่อมโยงกับความคิดรวบยอดอื่น ๆ ที่มีความสำคัญรอง ๆ ลงไปตามลำดับ
  3. แผนผังความคิดแบบเวนน์ (Venn Diagram) เป็นแผนผังที่ไว้แสดงข้อมูลเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอด ที่หมายถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของในลักษณะต่างๆ เป็นการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของแนวคิด ตั้งแต่ 2 แนวคิดขึ้นไป เพื่อค้นหาว่าส่วนใดมีลักษณะใดที่มีความเหมือนหรือมีความต่างกันบ้าง
  4. แผนผังความคิดแบบวงจรหรือแบบวัฏจักร (Cycle Graph) เป็นการคิดแบบวงจร ที่ใช้แสดงข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ กับระยะเวลาที่มีการเรียงลำดับการเคลื่อนไหว ของข้อมูลที่เป็นวัฏจักรที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง
  5. แผนผังก้างปลา (Fish Bone) เป็นแผนผังความคิดที่นิยมใช้เพื่อแสดงสาเหตุ และผลต่าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น
  6. แผนผังแบบลำดับขั้นตอน (Sequence Chart) เป็นแผนผังที่แสดง ให้เห็นถึงสภาพเหตุการณ์หรือเนื้อหาสาระที่เป็นกระบวนการเรียงตามลำดับขั้นตอน เป็นแผนผังที่แสดงให้เห็นถึงสภาพเหตุการณ์หรือเนื้อหาสาระที่เป็นกระบวนการเรียงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง หรือมีการเรียงลำดับตามความเหมาะสม ก่อน – หลังหรือง่ายไปหายาก

 

References:

  1. ฆนัท ธาตุทอง. (2559). หลักการจัดการเรียนรู้. นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์.
  2. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร. (2563). โรงเรียนแห่งความฉลาดรู้. วารสารการศึกษาไทย (OEC Journal), 17(3), 75–79.
  3. ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: บริษัท หลักพิมพ์ จำกัด.
  4. ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. ทิพรัตน์ สิทธิวงศ์ และศศิธร นาม่วงอ่อน. (2561). การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่ร่วมกับกระบวนการ QSCCS สำหรับหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา. Panyapiwat Journal, 10(3), 309–321.
  6. ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  7. เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์.
  8. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2558). การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  9. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2560). ทักษะ 7C ของครู 4.0 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  10. วัชรา เล่าเรียนดี ปรณัฐ กิจรุ่งเรือง และอรพิณ ศิริสัมพันธ์. (2560). กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาการคิดและยกระดับคุณภาพการศึกษา สำหรับศตวรรษที่ 21. นครปฐม: บริษัท เพชรเกษม พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
  11. วิจารณ์ พาณิช. (2556). การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21. (มูลนิธิสยามกัมมาจล). กรุงเทพฯ: ส.เจริญการพิมพ์.
  12. วิจารณ์ พานิช. (2556). ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง (พิมพ์ครั้งที่ 2). (มูลนิธิสยามกัมมาจล). กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด.
  13. วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.
  14. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค.
  15. สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
  16. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  17. สุวณี อึ่งวรากร. (2558). ครู: อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่คุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21. The Southern College Network Journal of Nursing and Public Health, 2(1), 65–78.
  18. อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.

Download เอกสารสรุปเนื้อหาประกอบการเรียนรู้

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต