Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
ทฤษฎีการเรียนรู้

ทฤษฎีการเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องทฤษฎีการเรียนรู้จะกล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้หรือจัดการเรียนการสอน ตลอดจนเตรียมกระบวนการต่าง ๆ ในการสอนได้อย่างเหมาะสม พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะการเกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การจัดการเรียนรู้คือแนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ (ทิศนา แขมมณี, 2561) การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาสภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการถ่ายโอนความรู้ไปสู่สถานการณ์ได้อย่างไร (เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์, 2558)

 

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข

  1. อิวาน พาฟลอฟ นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ทดลองการวางเงื่อนไขด้วยการสั่นกระดิ่งกับการให้อาหารสุนัข
  2. จอห์น บี วัตสัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทดลองการวางเงื่อนไขกับอารมณ์และความกลัวของมนุษย์

พาฟลอฟ เชื่อว่า สุนัขเกิดการเรียนรู้ โดยการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยเรียกรูปแบบของการเชื่อมโยงว่า “การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค” และทำให้ทราบว่าการเรียนรู้เกิดจากการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ซึ่งสรุปเป็นกฎเกณฑ์การเรียนรู้ได้ 4 ข้อ ดังนี้

  1. การลดพฤติกรรมหรือหยุดยั้งพฤติกรรม หลังจากที่สุนัขเรียนรู้แล้ว พาฟลอฟได้ทดลองให้แต่เสียงกระดิ่งอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ โดยไม่ให้เนื้อบดเลย ปรากฏว่าการตอบสนองจะค่อย ๆ ลดลง จนในที่สุดน้ำลายหยุดไหล
  2. การฟื้นกลับของพฤติกรรม หมายถึง การกลับมาตอบสนองใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดยั้งพฤติกรรมไปแล้ว โดยพาฟลอฟทำการทดลองใหม่อีกครั้ง หลังจากที่น้ำลายสุนัขหยุดไหลไประยะหนึ่ง ผลปรากฏว่าเสียงกระดิ่งทำให้น้ำลายของสุนัขกลับมาไหลได้อีก
  3. การสรุปความเหมือนกันหรือคล้ายกัน สุนัขตอบสนองต่อเสียงอย่างอื่นที่รับรู้ว่า คล้ายกับเสียงเดิม เช่น สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงเสียงอื่น ๆ ที่คล้ายกับเสียงกระดิ่ง
  4. การจำแนกความแตกต่าง สุนัขไม่ตอบสนองเสียงกระดิ่งที่มาจากบุคคลอื่น แสดงว่าสุนัขแยกความแตกต่างระหว่างเสียงเดิมกับเสียงใหม่ได้

ส่วนการศึกษาทฤษฎีการวางเงื่อนไขของวัตสันทำให้ทราบว่า อารมณ์กลัวของมนุษย์ เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกการวางเงื่อนไขให้ตกใจหรือกลัว

 

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการกระทำ สกินเนอร์ (Skinner) เสนอทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ ซึ่งเกิดจากบุคคลหรือสัตว์ เรียนรู้ผลของการกระทำที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และจะกระทำหรือไม่กระทำพฤติกรรมซ้ำ ขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับจากการกระทำ ถ้าได้ผลที่ปรารถนาก็จะทำซ้ำ แต่ถ้าไม่ได้ผลที่ปรารถนาจะไม่ทำซ้ำอีก สกินเนอร์ เชื่อว่า การเชื่อมโยงความรู้จะเกิดจากรางวัลกับการตอบสนอง ไม่ใช่สิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ เป็นส่วนของการตอบสนองสิ่งเร้าที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มนุษย์มักจะกระทำพฤติกรรมบางอย่างเมื่อได้รับผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ และจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำแล้วได้รับการลงโทษ “การกระทำที่ได้รับการเสริมแรง มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นอีก”

สกินเนอร์ใช้หนูในการทดลอง โดยสร้างกล่องทดลองที่เรียกว่า “Skinner box” ภายในกล่องมีหลอดไฟฟ้าต่อวงจรไว้กับคานเล็ก ๆ ถ้าหนูไปแตะหรือเหยียบคาน หลอดไฟจะสว่างพร้อมกับมีเสียงดังแกรกและมีอาหารหล่นลงมา สกินเนอร์นำหนูที่กำลังหิวมาทดลองโดยใส่ไว้ในกล่อง หนูจะวิ่งไปมาจนกระทั่งบังเอิญไปเหยียบคาน ปรากฏว่าหลอดไฟสว่างพร้อมกับเสียงดังแกรกและมีอาหารหล่นลงมา หนูก็รีบไปกินอาหาร จากนั้น หนูก็จะเวียนเฝ้ามาเหยียบคานและวิ่งไปคอยรับอาหาร ซึ่งในครั้งแรกหนูจะเกิดการเรียนรู้แบบทั่วไป (Generalization) คือ การเหยียบคานทุกครั้งจะได้รับอาหาร แต่ต่อมาหนูจะเรียนรู้ว่าต้องเหยียบคานและได้ยินเสียงดังแกรกเท่านั้นจึงจะได้รับอาหาร ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบจำแนก (Discrimination)

สรุปกฎการเรียนรู้แบบการกระทำของสกินเนอร์
การเสริมแรง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากการกระทำซึ่งจะมีผลทำให้โอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมมีมากขึ้น

  • การเสริมแรงทางบวก การทำให้โอกาสที่จะกระทำพฤติกรรมมีมากขึ้นด้วยการให้ในสิ่งที่ปรารถนาหรือต้องการ เช่น สิ่งของ รางวัล
  • การเสริมแรงทางลบ การถอดสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดรำคาญใจหรือความยุ่งยากออกไปเพื่อทำให้โอกาสที่จะกระทำพฤติกรรมมีมากขึ้น

การลงโทษ เป็นการทำให้โอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมลดลง แต่การลงโทษจะมีผลทำให้เกิดความคับข้องใจ อันจะนำไปสู่ความโกรธแค้นและความก้าวร้าวได้
  • การลงโทษทางบวก การทำให้เกิดความทุกข์ความลำบากและเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการเมื่อพฤติกรรมเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ลดพฤติกรรม
  • การลงโทษทางลบ การถอนสิ่งที่เป็นรางวัลหรือความต้องการออกไปเมื่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมนั้น

 

ทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ธอร์นไดค์ (Thorndike) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยาการเรียนรู้” การทดลองของธอร์นไดค์ทำให้เกิดความเชื่อว่า “มนุษย์จะกระทำในสิ่งที่สร้างความพึงพอใจ และจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ” ธอร์นไดค์เห็นว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง และการตอบสนองที่ได้รับการเสริมแรง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองมากขึ้น การทดลองของเขาจึงได้ชื่อว่า “ทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง”


การทดลองในช่วงแรกแมวมีปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง เช่น ข่วน ตะกุย ตะกายผนัง จากนั้นเมื่อแมวไปเหยียบคานไม้โดยบังเอิญ ทำให้ประตูกรงเปิดและแมวสามารถออกไปกินปลาได้ การทดลองซ้ำมากขึ้นจะทำให้พฤติกรรมการเดาสุ่มของแมวลดลง และในที่สุดแมวสามารถเหยียบคานไม้ทำให้ประตูกรงเปิดและออกมากินปลาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกอีกเลย การที่แมวกระทำพฤติกรรมซ้ำจะมีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำเรียกว่า กฎแห่งผล (Law of Effect) ความรู้จากทฤษฎีของธอร์นไดค์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการจัดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเรียนด้วยวิธีการต่างๆ การยกตัวอย่างการนำเข้าสู่บทเรียน การทบทวน การใช้สื่อประกอบ นอกจากนี้ ข้อสรุปเรื่องผลของการกระทำ ยังได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองต่อไป

กฎการเรียนรู้ตามทฤษฎีของธอร์นไดค์

  1. กฎแห่งผล (Law of effect) มีหลักการว่า การกระทำใด ๆ ที่ให้ผลเป็นที่พอใจผู้เรียนจะกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก ส่วนการกระทำใดที่ให้ผลไม่เป็นที่พอใจ ผู้เรียนจะเลิกทำพฤติกรรมนั้น ความพึงพอใจที่เกิดจากการแสดงพฤติกรรม คือ ตัวเสริมแรงที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองให้มั่นคงมากขึ้น
  2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) มีหลักการว่าเมื่อผู้เรียนเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองที่ถูกต้องแล้ว การฝึกฝนหรือทบทวนจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างคงทนและมีทักษะความชำนาญ เช่น เมื่อเรียนรู้แล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้นานวันเข้าก็อาจทำให้ไม่สามารถเล่นได้คล่องเท่าเดิม แต่ถ้าได้มีโอกาสเล่นเป็นประจำก็จะยิ่งเกิดความคล่องแคล่วมาก
  3. กฎแห่งความพร้อม (Law of readiness) มีหลักการว่าการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าผู้เรียนได้เรียนในขณะที่พร้อม มีความต้องการที่จะเรียน ความพร้อมประกอบด้วย ความพร้อม ทางร่างกายจากวุฒิภาวะ และมีความพร้อมทางจิตใจ “เมื่อบุคคลพร้อมที่จะทำแล้วได้ทำ เขาย่อมเกิดความพอใจ”

 

ทฤษฎีความต่อเนื่องของกัทธรี กัทธรี (Guthrie) มีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ คือมีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองที่เข้าคู่กันได้ในลักษณะที่มีการกระทำหรือสัมผัสไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ก็เกิดการเรียนรู้ได้ เช่น อ่านหนังสือสอบ กฎการเรียนรู้แบบทฤษฎีความต่อเนื่องของกัทธรี สรุปได้ดังนี้

  1. สิ่งเร้ากลุ่มหนึ่งเกิดพร้อมกับอาการเคลื่อนไหว เมื่อมีสิ่งเร้าเกิดขึ้นอีก ก็จะมีอาการเคลื่อนไหวเดิม
  2. หลักการกระทำครั้งสุดท้าย ถ้าการเรียนรู้สมบูรณ์จากการกระทำครั้งสุดท้าย เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ บุคคลจะกระทำเหมือนที่เคยกระทำไว้
  3. หลักการแทนที่ ถ้าสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไขมาเร้าให้ตอบสนองแม้เพียงครั้งเดียว ต่อมาใช้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขมาแทนก็จะเกิดการตอบสนองเช่นกัน
  4. เน้นการจูงใจมากกว่าการเสริมแรง ในการทำให้เกิดการเรียนรู้

 

ทฤษฎีการเสริมแรงของฮัลล์ ฮัลล์ (Clark L. Hull) เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการเสริมแรง เช่นการให้รางวัลเพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับหรือความต้องการ ซึ่งจะช่วยทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้น
การเสริมแรง หมายถึง ลักษณะการให้รางวัลเพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับหรือความต้องการ
แรงขับ หมายถึง สภาพความเครียดอันเป็นผลมาจากความต้องการและรางวัล
รางวัล หมายถึง ความพอใจที่ได้ตอบสนองความต้องการหรือได้ลดแรงขับ

การเสริมแรงในทัศนะของฮัลล์ มี 2 ประเภท คือ

  1. การเสริมแรงปฐมภูมิ คือ การให้รางวัลหรือการเสริมแรงที่จะลดแรงขับปฐมภูมิ เช่น ความต้องการขั้นพื้นฐาน
  2. การเสริมแรงทุติยภูมิ คือ การเสริมแรงที่มีตัวเสริมแรงทุติยภูมิเกิดขึ้นควบคู่กับการเสริมแรงปฐมภูมิ เช่น คำพูดปลอบใจ การให้กำลังใจ

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ถ้าให้แรงขับหรือความต้องการของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งสรุปเป็นแนวคิดการเรียนรู้ดังนี้

  1. เมื่อต้องการให้ใครเกิดการเรียนรู้ จงทำให้มีความต้องการหรือแรงขับหรือแรงจูงใจเกิดขึ้น
  2. การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำให้แรงขับหรือความต้องการลดลงทั้งหมด รางวัลที่ให้จึงไม่จำเป็นต้องให้มาก
  3. การเรียนรู้หรือการพัฒนานิสัย จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นไปในลักษณะของการกระทำที่มีต่อเนื่องไป สะสมทีละน้อย การเสริมแรงทุก ๆ ครั้งจะทำให้การเรียนรู้เพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้น

 

ทฤษฎีสนามของเลวิน เคิร์ท เลวิน (Kurt lewin) มีแนวคิดในการเรียนรู้ที่เน้น “ส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อย” การรับรู้นั้นต้องมีการจัดหมวดหมู่หรือรูปแบบของสิ่งเร้าอย่างเป็นสัดส่วน ทฤษฎีสนามของเลวิน เน้นเรื่อง “แรงจูงใจ” ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเป้าหมาย หรือแรงจูงใจที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้เรียนทำพฤติกรรมอย่างมีเป้าหมายและทิศทาง

 

ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน เอ็ดเวิร์ด ทอลแมน (Edward C. Talman) มีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เป็นแนวทางในการนำไปสู่เป้าหมาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ในการสอนให้ผู้เรียนบรรลุถึงจุดมุ่งหมายใด ๆ นั้น ครูควรให้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย

 

การนำทฤษฎีการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้

  • ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนเจตคติทางอารมณ์

  • ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ ใช้ในการเสริมแรงเพื่อการปรับพฤติกรรมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เข้มข้นขึ้น
  • ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ นำไปใช้เรื่องกฎการเรียนรู้ กฎแห่งความพร้อม กฎแห่งฝึกหัด กฎแห่งผล
  • ทฤษฎีความต่อเนื่องของกัทธรี นำไปใช้เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการกระทำ
  • ทฤษฎีการเสริมแรงของฮัลล์ใช้เสริมแรงในการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับผู้เรียน
  • ทฤษฎีสนามของเลวิน ใช้ในการเรียนการสอนทักษะ ให้รู้หลักการและทดลองปฏิบัติจริง
  • ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน ให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการกระทำและให้กำหนดเป้าหมายในการเรียน

 

References:

  1. จิราภา เต็งไตรรัตน์. (2550). การเรียนรู้. ใน สิริอร วิชชาวุธ (บ.ก.), จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  2. ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: บริษัท หลักพิมพ์ จำกัด.
  3. ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์. (2558). การออกแบบและการจัดการเรียนรู้. กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
  6. สุมาลี ชัยเจริญ. (2559). การออกแบบการสอน หลักการ ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น: บริษัท เพ็ญพริ้นติ้ง จำกัด.
  7. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Download เอกสารสรุปเนื้อหาประกอบการเรียนรู้

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต