Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
การออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้

การออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องการออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้จะกล่าวถึงเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ แนวทางการวางแผนเพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้และจัดทำกำหนดการสอน รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้ หลักการทำแผนจัดการเรียนรู้ ลักษณะของแผนจัดการเรียนรู้ที่ดี ขั้นตอนการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้ องค์ประกอบของแผนจัดการเรียนรู้ รายละเอียดในการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้ แนวทางการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนฝึกทักษะปฏิบัติเพื่อออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอน (Lesson Plan) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูที่ใช้สำหรับจัดการเรียนรู้ในทุกระดับชั้น เปรียบเสมือนเป็นแผนที่นำทางที่ช่วยให้ครูสามารถดำเนินกิจกรรมและจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ และในการจัดทำแผนจัดการเรียนรู้นั้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งกับผู้เรียนและครูผู้สอน (นรรัชต์ ฝันเชียร, 2561)

การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในยุคดิจิทัลสามารถออกแบบการจัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละรูปแบบสามารถนำวิธีการสอนมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และแผนการจัดการเรียนรู้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสอนที่เน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมไว้ล่วงหน้า โดยศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วจึงจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้อย่างมีระบบ โดยออกแบบกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนให้เชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบบทเรียน (เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ และคณะ, 2561)

 

ความหมายและความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้
แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนจะช่วยให้การจัดการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ และเป็นภารกิจสำคัญของครูที่จะทำให้ทราบล่วงหน้าว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไร ต้องกำหนดวัตถุประสงค์อย่างไร จัดกิจกรรมอย่างไร ใช้สื่อการเรียนรู้อะไรบ้าง วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการใด เป็นการเตรียมพร้อมก่อนการสอน การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องตามหลักการจะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมได้ครอบคลุมเนื้อหาและมีแนวทางหรือเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการจัดการเรียนรู้ หลักการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีเพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553) แผนการจัดการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก ช่วยให้ครูผู้สอนได้เตรียมความพร้อมก่อนการจัดกิจกรรมและจัดกิจกรรมได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้กิจกรรมในครั้งนั้นเป็นไปอย่างมีความหมาย และเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้นั้นบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูผู้สอนมีเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และช่วยให้ครูผู้สอนที่จะปฏิบัติการสอนแทนสามารถนำไปศึกษา ทำความเข้าใจและดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและผู้ที่จะต้องเข้าสอนแทน ตลอดจนผู้สอนท่านอื่นสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับจัดการเรียนรู้ได้

 

แนวทางการวางแผนเพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้และจัดทำกำหนดการสอน
การวางแผนการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การวางแผนระยะยาวและระยะสั้น ดังนี้

1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่วยการเรียนรู้ ครอบคลุมเนื้อหาสาระค่อนข้างกว้างและต้องใช้เวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นเวลานาน เช่น ตลอดภาคเรียน ซึ่งจะเรียกว่ากำหนดการสอน เป็นการเตรียมการสอนล่วงหน้าของผู้สอนในระยะยาวสำหรับวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยกำหนดเนื้อหาสาระที่จะต้องดำเนินการสอนในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น กำหนดการสอนตลอดทั้งปี ตลอดภาคเรียน ดังนั้น กำหนดการสอนจึงอาจแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ 1) กำหนดการสอนแบบรายปี 2) กำหนดการสอนแบบรายภาค 3) กำหนดการสอนแบบรายสัปดาห์ โดยการจัดทำกำหนดการสอนต้องคำนึงถึงกำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียน วันหยุด วันสำคัญต่าง ๆ หรือการหยุดเรียนในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ ตลอดจนกำหนดวันสอบย่อย สอบปลายภาค กำหนดการสอนจึงเปรียบเสมือนเป็นการกำหนดตารางเวลาสำหรับดำเนินการสอนของครู กำหนดเวลาและเนื้อหาสาระที่สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม โดยกำหนดว่าเรื่องใดตอนใดต้องสอนก่อนหรือหลัง ใช้เวลาแต่ละเรื่องมากน้อยเท่าใด ใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันใดในการจัดการเรียนรู้ ใช้สื่อและแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ใดบ้าง จัดการเรียนรู้ด้วยแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างไร เช่น จัดในห้องเรียนปกติของสถานศึกษา (Onsite) เรียนผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) เรียนผ่านการถ่ายทอดหรือทางดิจิทัลทีวี (On Air) เรียนผ่านการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ (On Demand) หรือจัดส่งชุดแบบเรียน ใบงาน แบบฝึกหัดและสื่อการเรียนไปให้ผู้เรียนที่บ้านทางไปรษณีย์ (On Hand) นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning/Hybrid Learning) ทั้งการผสมผสานด้วยแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและการผสมผสานผ่านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางคลาวด์คอมพิวเตอร์ (On Cloud) ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมได้ตามที่กำหนด การจัดทำกำหนดการสอนจะทำเป็นแบบรายปี แบบรายภาคหรือแบบรายสัปดาห์ก็สามารถจัดทำร่วมกันได้ โดยจัดทำได้ตามความเหมาะสมที่ผู้สอนพิจารณาเห็นสมควร

หลักการจัดทำกำหนดการสอน ครูผู้สอนควรจะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในแต่ละระดับช่วงชั้น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทักษะการรู้ใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) และข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้น การทำกำหนดการสอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้สอนกำหนดแนวทางในการสอนได้ระยะยาวตลอดปีหรือตลอดภาคการศึกษาว่าจะสอนอย่างไรให้เนื้อหากับเวลาของการสอนสอดคล้องสัมพันธ์กัน และในการจัดทำกำหนดการสอนนั้นสามารถทำได้โดย

  1. คณะหรือกลุ่มผู้สอนที่สอนในระดับเดียวกันมาร่วมกันพิจารณาเพื่อจัดทำ
  2. ช่วยกันสำรวจจำนวนคาบที่จะใช้ในการสอนแต่ละหน่วยว่าเหมาะสมหรือไม่
  3. นำหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยมากำหนด โดยจัดให้สัมพันธ์กับเวลาหรือจำนวนคาบที่ใช้สอน และพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
  4. พิจารณาจำนวนคาบหรือเวลาในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละวิชาให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเนื้อหากับเวลาเรียนในแต่ละหัวข้อ

ตัวอย่างแผนระยะยาวหรือกำหนดการสอน

2. การวางแผนระยะสั้น หมายถึง การวางแผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนของบทเรียนแต่ละเรื่องหรือแต่ละครั้งที่สอน โดยจะมีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ รายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละขั้นตอน ระบุการใช้สื่อหรือทรัพยากรการเรียนรู้ พร้อมทั้งกำหนดการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีรูปแบบและรายละเอียดของแต่ละแผนดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป การวางแผนการจัดการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้สอนได้เตรียมความพร้อมรอบด้าน ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในทุกเรื่อง

 

รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้
รูปแบบของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1) แบบเรียงหัวข้อ เป็นการเขียนเรียงลำดับตามหัวข้อที่กำหนดไว้ก่อนหลัง โดยไม่ต้องทำตาราง รูปแบบนี้มีข้อดี คือ สะดวกต่อการเขียนเพราะไม่เสียเวลาในการสร้างตาราง เขียนได้ง่าย กระชับ แต่มีข้อจำกัด คือ ยากต่อการตรวจดูความสอดคล้องสัมพันธ์กันของแต่ละหัวข้อ โดยเขียนเรียงกันตามหัวข้อ และ 2) แบบกึ่งหัวข้อกึ่งตาราง รูปแบบนี้เป็นแบบที่แสดงให้เห็นเป็นช่อง ๆ ตามลำดับก่อนหลัง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ออกแบบการสอนจะต้องสร้างตารางเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อเรื่อง กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียน การประเมินผล และหมายเหตุ โดยส่วนที่เขียนเรียงหัวข้อ เช่น ชื่อวิชาและระดับชั้น ชื่อหน่วย ชื่อเรื่อง เวลาที่ใช้สอนเป็นคาบ ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ ส่วนที่กำหนดเป็นตาราง เช่น จุดประสงค์นำทาง กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล ข้อเสนอแนะ

ตัวอย่างแผนจัดการเรียนรู้แบบเรียงหัวข้อ

ตัวอย่างแผนจัดการเรียนรู้แบบกึ่งตาราง

 

หลักการทำแผนจัดการเรียนรู้

  • ศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ความมุ่งหมายของกลุ่มสาระที่สอน ต้องให้ครอบคลุมจุดมุ่งหมายการศึกษา ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ เจตคติ และทักษะ
  • กำหนดขอบเขตของเนื้อหา
  • ทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่จะสอน
  • พิจารณาเลือกวิธีสอนที่เหมาะสม กับเนื้อหา วัย วุฒิภาวะของผู้เรียน และควรให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับที่จะสอน
  • เลือกสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับวิธีสอน
  • กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและต่อเนื่อง
  • ดำเนินการวัดและประเมินผลทุกครั้งที่กำหนดการสอน ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

 

ลักษณะของแผนจัดการเรียนรู้ที่ดี

  • มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
  • กำหนดจุดประสงค์ได้สอดคล้องกับเนื้อหา เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และท้องถิ่น
  • จัดเนื้อหาสาระได้เหมาะสมกับผู้เรียน เวลา ความต้องการ สภาพความเป็นจริงของท้องถิ่น
  • จัดลำดับหัวข้อ รายละเอียดของเนื้อหาแต่ละส่วนให้กลมกลืนผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่ได้
  • กำหนดระยะเวลาที่จะทำกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละเรื่องแต่ละหัวข้อให้เหมาะสม
  • กำหนดกิจกรรมและการฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียน โดยคำนึงถึงวัยความต้องการ ความสนใจของผู้เรียน และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง

ขั้นตอนการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้

  • ศึกษาแผนการสอนแม่บท และปรับแผนการสอน โดยแบ่งหัวข้อของเนื้อหาให้ย่อยลงไป
  • ศึกษาความคิดรวบยอดทั้งหมดของบทหรือเรื่องนั้นให้เข้าใจ
  • ศึกษาจุดประสงค์มาตรฐานการเรียนรู้ทั้งหลายของสาระนั้น
  • ศึกษาเนื้อหาและรายละเอียดว่ามี สอดคล้องกับสาระในจุดประสงค์ข้อใด และความคิดรวบยอดข้อใด
  • ศึกษากิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดที่จะนำมาใช้ในการออกแบบ
  • ศึกษาการวัดผลและการประเมินผลแต่ละครั้งที่สอนว่าใช้วิธีการอย่างไร

องค์ประกอบของแผนจัดการเรียนรู้

  • กลุ่มสาระวิชาและชื่อเรื่องที่จะสอน
  • ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ
  • จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้
  • เนื้อหาของการเรียน
  • กระบวนการจัดการเรียนรู้/กิจกรรมการเรียนรู้
  • สื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้
  • การวัดและการประเมินผล
  • หมายเหตุหรือบันทึกหลังการสอน

รายละเอียดในการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้

  1. สาระสำคัญ เป็นความคิดรวบยอดหรือหลักการของเรื่องหนึ่งที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียน เมื่อเรียนตามแผนการสอนแล้ว
  2. จุดประสงค์การเรียนรู้ การกำหนดจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อเรียนจบตามแผนการสอนแล้ว
    • จุดประสงค์ทั่วไป หรือ “จุดประสงค์ปลายทาง” หมายถึง จุดประสงค์การเรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น เมื่อการเรียนการสอนเรื่องนั้น ๆ เสร็จสิ้นลง โดยเป็นการกำหนดแบบกว้าง ๆ ไม่ได้เน้นเฉพาะหรือเจาะจงพฤติกรรม
    • จุดประสงค์เฉพาะ หรือ “จุดประสงค์นำทาง” หมายถึง จุดประสงค์การเรียนการสอนในรูปของพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น หลังจากที่ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาในบทเรียนแล้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังเกตและวัดได้
  3. เนื้อหา ต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและเหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียน ระดับชั้นและเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้
  4. กิจกรรมการเรียนรู้ ต้องออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดรวบยอดในแผนการจัดการเรียนรู้นั้น ๆ เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
    • ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการเขียนระบุกิจกรรมที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรื่องที่จะเรียน โดยกิจกรรมนั้นต้องน่าสนใจและเชื่อมโยงกับบทเรียนซึ่งอาจใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ
    • ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการเขียนรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละขั้นตอนของวิธีสอน ซึ่งมีได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีขั้นตอนและรายละเอียดที่แตกต่างกัน กิจกรรมต้องเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ผู้สอนจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
    • ขั้นสรุปบทเรียน เป็นการระบุกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้สรุป ทบทวนความเข้าใจในบทเรียน หรือเป็นการใช้คำถามเพื่อทบทวนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้
  5. สื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ ต้องเลือกใช้สื่อที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี มีความน่าสนใจ หลากหลาย ทันสมัย เช่น ของจริง ของจำลอง รูปภาพ สถานที่ แหล่งการเรียนรู้หรือสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ
  6. การวัดผลและประเมินผล ต้องเลือกใช้วิธีการวัดและประเมินผลให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ ความพร้อม วุฒิภาวะ ระดับอายุ และความสามารถของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยอาจแยกเป็นก่อนสอน ระหว่างสอน และหลังสอน
  7. กิจกรรมเสนอแนะ เป็นกิจกรรมที่บันทึกการตรวจแผนการสอนของผู้ตรวจแผนการสอน
  8. ข้อเสนอแนะของผู้บังคับบัญชา เป็นกิจกรรมที่บันทึกข้อเสนอแนะของผู้บังคับบัญชาหลังตรวจแผนการสอน

แนวทางการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็นจุดประสงค์ที่สามารถสังเกตและวัดได้เมื่อผู้เรียนศึกษาหรือเรียนเรื่องนั้นแล้วเกิดการเรียนรู้และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเกณ์สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วย

  • ด้านความรู้ (K : Knowledge)
  • ด้านทักษะกระบวนการ (P : Process)
  • ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (A : Attitude)

 

กิจกรรมฝึกทักษะปฏิบัติการเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

1. ส่วนประกอบของโครงสร้างในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
โครงสร้างประโยคในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. พฤติกรรมที่คาดหวัง
  2. สถานการณ์หรือเงื่อนไข
  3. เกณฑ์ ประกอบด้วย
    1. เกณฑ์อย่างง่าย เช่น ระบุเป็น ได้ ทำได้ บอกได้ เขียนได้
    2. เกณฑ์เชิงปริมาณ เช่น ระบุเป็น ร้อยละ จำนวน
    3. เกณฑ์เชิงคุณภาพ เช่น ระบุเป็น ระดับดีมาก ดี ถูกต้อง สวยงาม
    4. เกณฑ์ที่กำหนดเวลา เช่น ระบุเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จ

ตัวอย่างการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

  1. เมื่อกำหนดชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้ 10 ชื่อ นักเรียนสามารถจับคู่ชื่อสถานที่กับบัตรภาพได้ถูกต้องทุกชื่อ
    คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 1 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน ดังนี้
    - สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ เมื่อกำหนดชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้ 10 ชื่อ
    - พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถจับคู่ชื่อสถานที่กับบัตรภาพ (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ จับคู่)
    - เกณฑ์ คือ ได้ถูกต้องทุกชื่อ (เป็นเกณฑ์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ)
  2. เมื่อกำหนดโจทย์ปัญหาการบวกลบระคนให้ 5 ข้อ นักเรียนสามารถแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อย 3 ข้อ
    คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 2 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน ดังนี้
    - สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ เมื่อกำหนดโจทย์ปัญหาการบวกลบระคนให้ 5 ข้อ
    - พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถแก้โจทย์ปัญหา (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ แก้โจทย์ปัญหา)
    - เกณฑ์ คือ ได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อย 3 ข้อ (เป็นเกณฑ์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ)
  3. หลังจากนักเรียนจับฉลากคำในมาตราแม่กก นักเรียนสามารถแต่งประโยคได้ภายในเวลา 1 นาที
    คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 3 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน ดังนี้
    - สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ หลังจากนักเรียนจับฉลากคำในมาตราแม่ กก
    - พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถแต่งประโยค (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ แต่งประโยค)
    - เกณฑ์ คือ ได้ภายในเวลา 1 นาที (เป็นเกณฑ์ที่กำหนดเวลา)
  4. นักเรียนสามารถบอกประโยชน์ของการรับประทานอาหารพื้นบ้านได้
    คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 4 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 2 ส่วน ดังนี้
    - พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถบอกประโยชน์ของการรับประทานอาหารพื้นบ้าน (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ บอก)
    - เกณฑ์ คือ ได้ (เป็นเกณฑ์อย่างง่าย)

* ส่วนประกอบสำคัญของประโยคในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่มีความจำเป็นและขาดไม่ได้คือ พฤติกรรมที่คาดหวัง *

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. มีความละเอียด ชัดเจน มีหัวข้อและส่วนประกอบต่าง ๆ ครอบคลุมตามศาสตร์ของการสอน โดยสามารถตอบคำถามต่อไปนี
    • สอนอะไร (หน่วย หัวเรื่อง ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ)
    • เพื่อจุดประสงค์อะไร (เน้นจุดประสงค์พฤติกรรม หรือ KPA)
    • สอนด้วยสาระใด (เนื้อหาสาระ) และใช้วิธีการใดในการสอน
    • ใช้อะไรเป็นสื่อประกอบการสอน และประเมินผลอย่างไร
  2. ส่วนประกอบของแผนสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เช่น
    • จุดประสงค์ครอบคลุมเนื้อหาสาระและเน้นการพัฒนาผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือคุณลักษณะที่ดีงาม
    • กระบวนการจัดการเรียนรู้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหา
    • สื่อและแหล่งเรียนรู้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้
    • การวัดและประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์
  3. แผนการสอนสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง

ตัวอย่าง การออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียน

ตัวอย่าง การใช้ตารางเพื่อฝึกปฏิบัติทักษะการออกแบบกิจกรรมสำหรับจัดการเรียนรู้

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต