Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะกล่าวถึง ความหมายการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ จุดประสงค์การวัดและการประเมินผล ประโยชน์ของการวัดและการประเมินผล เครื่องมือและเทคนิควิธีที่ใช้ในการวัดและการประเมินผล ลักษณะของข้อสอบและแบบสอบถามที่ดี และการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบและเลือกใช้วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละกิจกรรมและขั้นตอนของการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

การวัดและประเมินการเรียนรู้เป็นกระบวนการตรวจสอบการเรียนรู้ และพัฒนาการต่าง ๆ ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร เพื่อนำผลไปใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินผลการเรียน ครูผู้สอนทุกคนจึงต้องรับผิดชอบต่อการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของผู้เรียน เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข, 2560) ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้สอน เพื่อนำไปบูรณาการและประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่หลากหลายทางดิจิทัลเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

ความหมายการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้

  • การวัด (Measurement) เป็นกระบวนการเชิงปริมาณในการกำหนดค่าเป็นตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมาย โดยอาศัยกฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • การประเมินผล (Evaluation) เป็นกระบวนการในการตัดสินคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีหลักเกณฑ์เพื่อเป็นการสรุปว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ อย่างไร

 

จุดประสงค์การวัดและการประเมินผล

  1. การจัดตำแหน่ง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อจัดหรือแบ่งประเภทผู้เรียนแต่ละคนว่ามีความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่ม
  2. การวินิจฉัย เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนคนใดมีความสามารถด้านใด มีเนื้อหาในส่วนใดที่ผู้เรียนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ
  3. การเปรียบเทียบ เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียน เช่น ก่อนเรียนและหลังเรียน
  4. การพยากรณ์ เพื่อช่วยทำนายหรือคาดเดาและแนะนำว่าผู้เรียนควรเรียนอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและสอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดหรือความสนใจ
  5. การให้ผลย้อนกลับ เพื่อนำผลการประเมินที่ได้ไปปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อไป หรือเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่าตนเองมีความรู้ในระดับใด มากน้อยเพียงใด
  6. การเรียนรู้ เพื่อเป็นกระตุ้นในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี

 

เบนจามิน บลูม (Bloom, 1956) ได้เสนอเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่จะวัดและประเมินผล โดยเน้นที่จุดประสงค์หรือพฤติกรรมที่ต้องการวัดดังนี้

  1. การวัดทางปัญญา หรือ พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
  2. การวัดความรู้สึก หรือ จิตพิสัย (Affective Domain)
  3. การวัดความสามารถทางพฤติกรรม หรือ ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

1. การวัดทางปัญญาหรือพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เป็นการวัดพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา โดยพฤติกรรมทางพุทธิพิสัย 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า

  • 1.1 ความรู้ (Knowledge) เป็นความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการ ประกอบด้วย ความรู้เฉพาะเจาะจง ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเฉพาะอย่าง และความรู้ทั่วไป เช่น สามารถบอกชื่อ วัน เวลา สถานที่ เหตุการณ์ กระบวนการ วิธีการ ชนิด ประเภท วิธีปฏิบัติ หลักการ
  • 1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของสื่อ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ ประกอบด้วย การแปลความ การตีความ และการขยายความ เช่น สามารถแปลความหมาย อธิบายคำศัพท์ สรุปสาระ เรียงลำดับ บอกข้อแตกต่าง คาดคะเน
  • 1.3 การนำไปใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำเอาหลักการ เทคนิค แนวคิด และทฤษฎีมาใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถนำเอาไป เลือก พัฒนา ปรับ ใช้ เปลี่ยน
  • 1.4 การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ประกอบด้วย การวิเคราะห์องค์ประกอบ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ การวิเคราะห์หลักการดำเนินงาน เช่น สามารถชี้บ่งส่วนที่สำคัญ ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ข้อดี ข้อเสีย
  • 1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายการกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือ อาจจะเกิดความคิดที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือ แนวคิดใหม่ ประกอบด้วย การสังเคราะห์ข้อความ การสังเคราะห์แผนงาน และการสังเคราะห์ความสัมพันธ์ เช่น สามารถเขียนโครงสร้าง แต่งเรื่อง ออกแบบ วางแผน
  • 1.6 การประเมินค่า (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้ ประกอบด้วย การประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายใน และการประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายนอก เช่น สามารถตัดสิน โต้แย้ง พิจารณา เปรียบเทียบ

 

2. การวัดความรู้สึกหรือจิตพิสัย (Affective Domain) เป็นการวัดพฤติกรรมด้านค่านิยม ความรู้สึก ซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม พฤติกรรมด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ พฤติกรรมทางจิตพิสัย 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ การตอบสนอง การสร้างค่านิยม การจัดระเบียบค่านิยม และลักษณะนิสัยที่เกิดจากค่านิยม

  • 2.1 การรับรู้ (Receiving) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
  • 2.2 การตอบสนอง (Responding) เป็นการกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพอใจต่อสิ่งเร้านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการเลือกสรรแล้ว
  • 2.3 การสร้างค่านิยม (Valuing) การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม การยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น
  • 2.4 การจัดระเบียบค่านิยม (Organization) การสร้างแนวคิดจัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับ โดยยกเลิกค่านิยมเก่า
  • 2.5 ลักษณะนิสัยที่เกิดจากค่านิยม (Characterization) การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามพฤติกรรมด้านนี้ จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ

 

3. การวัดความสามารถทางพฤติกรรมหรือทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นการวัดพฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ซึ่งแสดงออกมาได้โดยตรงโดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ พฤติกรรมทางทักษะพิสัย 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ ลงมือทำตามแบบ ยอมรับคำแนะนำ กระทำด้วยตนเอง และปฏิบัติงานที่ซับซ้อนได้

  • 3.1 การรับรู้ เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ เป็นการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
  • 3.2 การลงมือกระทำตามแบบ เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจและพยายามทำซ้ำ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือ สามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อแนะนำ
  • 3.3 การยอมรับคำแนะนำ ผู้เรียนสามารถกระทำตามสิ่งที่ได้รับคำแนะนำได้
  • 3.4 การกระทำด้วยตนเอง พฤติกรรมสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ เมื่อได้กระทำซ้ำแล้ว ก็พยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
  • 3.5 ปฏิบัติงานที่ซับซ้อนได้ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถปฏิบัติ ได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติ
 

ระดับความสามารถที่มีการปรับปรุงใหม่ตามแนวคิดของ Anderson and Krathwohl (2001) แบ่งออกเป็น

ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ประกอบด้วย

  1. การจำ (Remembering)
  2. การเข้าใจ (Understanding)
  3. การประยุกต์ใช้ (Applying)
  4. การวิเคราะห์ (Analyzing)
  5. การประเมินผล (Evaluating)
  6. การสร้างสรรค์ (Creating)

ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) ประกอบด้วย

  1. การรับรู้
  2. การตอบสนอง
  3. การสร้างค่านิยม
  4. การจัดระบบ
  5. การสร้างคุณลักษณะจากค่านิยม

ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) ประกอบด้วย

  1. ทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  2. ทักษะการเคลื่อนไหวอวัยวะสองส่วนหรือมากกว่า พร้อม ๆ กัน
  3. ทักษะการสื่อสารโดยใช้ท่าทาง และทักษะการแสดงพฤติกรรมทางการพูด

 

ประโยชน์ของการวัดและการประเมินผล

ประโยชน์ต่อครูผู้สอน

  1. ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ ของนักเรียน
  2. ทำให้ทราบถึงผลการสอนของครูว่ามีประสิทธิผลมากน้อยเพียงไร
  3. ทำให้ครูได้ข้อมูลในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการสอนหรือการกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนที่เหมาะสมต่อไป
  4. ช่วยให้ครูกำหนดเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนเป็นรายบุคคลกรณีที่ประสงค์จะสอนเพิ่มเติมหรือสอนซ่อมเสริม

ประโยชน์ต่อผู้เรียน

  1. ทำให้ผู้เรียนทราบจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน
  2. ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลการวัดและประเมินผลดีขึ้น
  3. ช่วยสร้างนิสัยในการใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เมื่อไม่สามารถตอบคำถามหรือตอบแบบทดสอบได้ผู้เรียนจะไปศึกษาเพิ่มเติมก่อให้เกิดนิสัยอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
  4. ทำให้ทราบถึงสถานภาพทางการเรียนของตนเองว่าเด่นด้อยในเรื่องใดควรได้รับการปรับปรุงอย่างไร

ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
ช่วยให้ผู้ปกครองทราบถึงพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนเป็นระยะ ๆ ดังนั้นจึงต้องให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบด้วย เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อไป

ประโยชน์ต่องานแนะแนว
ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เช่น การวัดเจตคติ การวัดความสนใจ การวัดบุคลิกภาพ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวัดความถนัด เป็นข้อมูลของนักเรียนที่มีประโยชน์ต่องานแนะแนวในการให้คำแนะนำหรือข้อชี้แนะเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ การศึกษาต่อ และปัญหาส่วนตัวของนักเรียนที่ประสบอยู่

ประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษา
การประเมินผลโดยภาพรวมของสถานศึกษานั้นๆ จะเป็นข้อมูลบอกถึงประสิทธิภาพ ในการจัดและการบริหารการศึกษา และการวัดผลและการประเมินผลเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมหลายๆ ด้าน เช่นการคัดเลือกบุคลากรในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ การสอบคัดเลือกการจัดแยกประเภทนักเรียน นักศึกษา และการประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น

ประโยชน์ต่อการวิจัยการศึกษา
ข้อมูลทางการศึกษาที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษาด้านต่างๆ นั้น จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้พัฒนาระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง

 

เครื่องมือและเทคนิควิธีที่ใช้ในการวัดและการประเมินผล

  1. การสังเกต (Observation) การพิจารณาปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาความจริงบางประการ โดยอาศัยประสาทสัมผัสของผู้สังเกตโดยตรง
  2. การสัมภาษณ์ (Interview) การสนทนาหรือการพูดโต้ตอบกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อค้นหาความรู้ ความจริง ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
  3. การให้ปฏิบัติ (Performance Assessment) เป็นการวัดผลงานที่ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งกระบวนการและผลงานในสถานการณ์จริง หรือในสถานการณ์จำลอง
  4. การศึกษารายกรณี (Case Study) เป็นเทคนิคการศึกษาปัญหา หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยละเอียดลึกซึ้งเป็นราย ๆ ไป
  5. การให้จินตนาการ (Imagination) เป็นเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาที่สร้างขึ้นเพื่อทราบความรู้สึกนึกคิดออกมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ตัว
  6. การใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) เป็นชุดของคำถามที่ใช้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ โดยผู้ตอบจะต้องเขียนตอบลงในแบบสอบถามด้วยตัวเอง ครูใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลลักษณะเดียวกับการสัมภาษณ์ เช่น ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึก ของนักเรียน แต่จะใช้ได้ดีในกรณีที่นักเรียนอ่านออกเขียนได้
  7. การทดสอบ (Testing) เป็นกระบวนการในการนำชุดของสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการวัดออกมาให้ครูสังเกตได้และวัดได้ แบ่งออกเป็น แบบทดสอบที่จำแนกตามลักษณะการกระทำ (ปฏิบัติ/ข้อเขียน/ปากเปล่า) จำแนกตามสมรรถภาพที่ใช้วัด (แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์/ความถนัด/บุคลิกภาพ) จำแนกตามลักษณะการตอบ (ปรนัย/ อัตนัย)

 

ลักษณะของข้อสอบและแบบสอบถามที่ดี

  1. ความเที่ยงตรง (Validity) เป็นความถูกต้องสอดคล้องของแบบทดสอบกับสิ่งที่ต้องการจะวัด ซึ่งเป็นคุณลักษณะของแบบทดสอบที่ถือว่าสำคัญที่สุดโดยมีเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ คือ เนื้อหา โครงสร้าง สภาพปัจจุบันและอนาคต
  2. ความเชื่อมั่น (Reliability) เป็นความคงเส้นคงวาของคะแนนในการวัดแต่ละครั้ง หรือความคงที่ของผลการวัด ผลของการวัดไม่ว่าจะเป็นคะแนนหรืออันดับที่ก็ตาม ถ้ามีการตรวจสอบผลซ้ำอีกไม่ว่ากี่ครั้งก็จะได้ผลใกล้เคียงและสอดคล้องกับผลการวัดเดิมนั่นเอง
  3. ความยากง่าย (Difficulty) ความยากง่ายของข้อสอบพิจารณาได้จากผลการสอบของผู้สอบเป็นสำคัญ ข้อสอบใดที่ผู้สอบส่วนมากตอบถูก ค่าคะแนนเฉลี่ยของข้อสอบสูงกว่า 50% ของคะแนนเต็ม อาจกล่าวได้ว่า เป็นข้อสอบที่ง่าย ถ้าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 50% แสดงว่าเป็นข้อสอบค่อนข้างยาก ข้อสอบที่ดีควรมีความยากง่ายพอเหมาะไม่ยากหรือง่ายเกินไป
  4. มีค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) เป็นลักษณะของแบบทดสอบที่สามารถออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ทุกระดับตั้งแต่อ่อนสุดจนถึงเก่งสุด แม้ว่าจะเก่ง–อ่อนกว่ากันเพียงเล็กน้อย ก็สามารถชี้จำแนกให้เห็นได้ โดยข้อสอบที่มีอำนาจจำแนกสูงนั้น เด็กเก่งมักตอบถูกมากว่าเด็กอ่อนเสมอ ข้อสอบที่ทุกคนตอบถูกหมดจะไม่สามารถบอกอะไรได้เลย หรือข้อสอบที่ทุกคนตอบผิดหมด ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเก่งหรืออ่อน
  5. มีความเป็นปรนัย (Objectivity) เป็นความชัดเจนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการวัดผล ครั้งนั้นมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องของคำถาม ค่าของคะแนนหรืออันดับที่ที่วัดได้ ตลอดจนการแปลงค่าคะแนนเป็นผลประเมินในการตัดสินคุณค่าก็สอดคล้องตรงกัน
    คุณสมบัติความเป็นปรนัยของแบบทดสอบที่สำคัญ ได้แก่ คุณสมบัติ 3 ประการ ดังนี้
    1. ชัดแจ้งในความหมายของคำถาม ข้อสอบที่เป็นปรนัย ทุกคนที่อ่านข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบหรือผู้ตรวจข้อสอบย่อมจะเข้าใจตรงกันไม่ตีความไปคนละอย่าง
    2. ตรวจให้คะแนนได้ตรงกัน ข้อสอบที่มีความเป็นปรนัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออก ข้อสอบหรือใครก็ตามสามารถตรวจให้คะแนนได้ตรงกัน ข้อสอบที่ผู้ตรวจเฉลยไม่ตรงกัน แสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในคำถามและคำตอบ
    3. แปลความหมายของคะแนนได้ตรงกัน โดยทั่วไปข้อสอบปรนัยนั้นผู้ตอบถูกจะได้ 1 คะแนน ตอบผิดจะได้ 0 คะแนน จำนวนคะแนนที่ได้จะแทนจำนวนข้อที่ถูก ทำให้สามารถแปลความหมายได้ชัดเจนว่าใครเก่ง อ่อนอย่างไร ตอบถูกมากน้อยต่างกันอย่างไร
  6. มีความหมายในการทดสอบ (Meaningfulness) ข้อสอบที่ดี ผลการสอบที่วัดได้ต้องมีความหมายตรงกับความเป็นจริง และตรงกับความต้องการที่จะวัด
  7. สามารถนำไปใช้ได้ (Usability) ต้องสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการได้ เช่น ดำเนินการสอบได้ง่าย ใช้เวลาเหมาะสม ให้คะแนนง่าย แปลผลและนำไปใช้สะดวก เป็นต้น
 

การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน

การประเมินตามระบบการวัดผล

  1. การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม เป็นการประเมินผลโดยนำคะแนนที่ได้จากการสอบไปเปรียบเทียบกับความสามารถของกลุ่ม
  2. การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ เป็นการประเมินผลโดยนำคะแนนที่ได้จากการสอบไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แล้วพิจารณาตัดสินตามนั้น

การประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เป็นกระบวนการสังเกต การบันทึก และรวบรวมข้อมูลจากผลงานและวิธีการที่ผู้เรียนกระทำ

  1. ประเมินในสิ่งที่เป็นภาคปฏิบัติจริง หรือกระทำจริงได้
  2. กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินไว้ให้ชัดเจน
  3. ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่
  4. ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาในการแสดงออกอย่างเต็มที่

เครื่องมือการประเมินผลตามสภาพจริง

  1. การประเมินการแสดงออก (Performance)
  2. การประเมินกระบวนการและผลผลิต (Process and Products)
  3. การประเมินแฟ้มสะสมงาน (Portfolio Assessment)

วิธีการประเมินผลตามสภาพจริง

  1. การสังเกต
  2. การสัมภาษณ์
  3. การบันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง
  4. แบบทดสอบวัดความสามารถจริง (Authentic Test)
  5. การรายงานตนเอง
  6. แฟ้มสะสมงาน (Portfolio)

 

กิจกรรมเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อให้เกิดทักษะที่ถูกต้อง
กำหนดให้เขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ จำนวน 9 ข้อ โดยแบ่งเป็น

จุดประสงค์ด้านพุทธิพิสัยจำนวน3ข้อ
จุดประสงค์ด้านจิตพิสัยจำนวน3ข้อ
จุดประสงค์ด้านทักษะพิสัยจำนวน3ข้อ
จากนั้นให้ระบุ วิธีการวัด และประเมินผล ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละข้อ
ตัวอย่างการระบุเพิ่มเติม
การวัดผล (วิธีการ)เช่น สังเกตพฤติกรรม ทำแบบทดสอบ ตอบคำถาม ให้ลงมือปฏิบัติ
การวัด (เครื่องมือ)เช่น แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบ ใบงาน
การประเมินผลเช่น ประเมินพฤติกรรม (มี/ไม่มี) เกณฑ์การให้คะแนนหรือกำหนดการประเมินตามสภาพจริง (Rubrics)
 

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต