Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
การใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้

การใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้

สวัสดีครับ เรื่องการใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้จะกล่าวถึง ความหมายของสิ่งแวดล้อม การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน การใช้แหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ประเภทของแหล่งเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเลือกใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประกอบกิจกรรมและขั้นตอนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

ความหมายของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น

  1. สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)
  2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น สิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณ ศิลปวัฒนธรรม และกฎเกณฑ์ทางสังคม)

 

การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางวิชาการ และสภาพแวดล้อมทางการบริหารจัดการ

  1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมองเห็น สัมผัสได้ สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกหรือตอบสนองความต้องการ
  2. สภาพแวดล้อมทางวิชาการ สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
  3. สภาพแวดล้อมทางการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อมที่เป็นลักษณะการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน การปฏิบัติงานด้วยความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรจนบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด

การจัดอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

  • การบริหารงานอาคารสถานที่ หมายถึง การกำหนดแนวทางและการวางแผนการบริหารจัดการ อาคารสถานที่ การจัดทำแผนผังบริเวณสถานศึกษา การดูแลและพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม การติดตามตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม
  • การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในสถานศึกษา หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศบริเวณสถานศึกษาและภายในอาคารเรียนและอาคารต่าง ๆ ให้เกิดความสะอาด ร่มรื่น สวยงามและปลอดภัย การจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในสถานศึกษานั้น ควรจัดบริเวณต่าง ๆ ให้เป็นสัดส่วนและตกแต่งบริเวณโดยรอบให้สวยงาม

 

การใช้แหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
สถานศึกษาแต่ละแห่งถึงแม้จะมีสภาพพื้นที่แตกต่างกันไป แต่ในบริเวณพื้นที่ของทุกสถานศึกษาสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งข้อมูล ข่าวสาร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย รวมทั้งครูผู้สอนก็สามารถสร้างใช้เป็นแหล่งเรียนรู้จากนอกห้องเรียนเพื่อฝึกฝนผู้เรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ในทุกสาระการเรียนรู้ โดยแหล่งการเรียนรู้ หมายถึง แหล่งที่มีข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ประสบการณ์ สารสนเทศและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความคิดเห็น และความรู้สึกของบุคคลซึ่งมีการถ่ายทอดหรือบันทึกไว้ตามสื่อต่างๆ แหล่งการเรียนรู้ ประกอบด้วย สถานที่ ปรากฏการณ์ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถแสวงหาความรู้ได้ทุกเวลา ทุกโอกาส และทุกสถานที่ การศึกษาค้นคว้าจากแหล่งการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการค้นคว้า ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)

 

ประเภทของแหล่งเรียนรู้
การจัดประเภทของแหล่งเรียนรู้ สามารถจัดได้หลายแบบตามความสอดคล้องกับโรงเรียนหรือสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน

การจัดตามลักษณะของแหล่งเรียนรู้

  1. แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ลำธาร ทะเล ท้องฟ้า มหาสมุทร หิน ดิน ทราย ฯลฯ
  2. แหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกของมนุษย์ แบ่งได้เป็น
    • แหล่งเรียนทางภูมิสถาปัตย์ เช่น สิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่ เขื่อน อุทยาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลาด บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย
    • แหล่งเรียนรู้ทางสังคม เป็นแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อและเจตคติที่มนุษย์ได้สั่งสมและพัฒนาเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอาจเป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรมต่างๆ เช่น ประเพณี งานหรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น งานสัปดาห์ห้องสมุด สัปดาห์วิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ ฯลฯ
    • แหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาค้นคว้า เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ ห้องพุทธศาสตร์ ห้องเกียรติยศ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ
  3. แหล่งเรียนรู้ที่เป็นบุคคล เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในด้านการประกอบการอาชีพและการสืบสานวัฒนธรรม ตลอดจนนักคิด นักประดิษฐ์ และผู้ที่มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ เช่น ภิกษุสงฆ์ ครู ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ฯลฯ

การจัดตามที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้

  • แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน เดิมจะมีแหล่งเรียนรู้หลัก คือ ครู อาจารย์ ห้องเรียน ห้องสมุด ต่อมามีการพัฒนาเป็นห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องโสต ห้องศูนย์คณิตศาสตร์ ตลอดจนการใช้อาคารสถานที่บริเวณและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
  • แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่และบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในชุมชนใกล้เคียง โรงเรียนและชุมชนที่โรงเรียนพานักเรียนไปศึกษาหาความรู้ เช่น ภูเขา แม่น้ำ สถานประกอบการต่างๆ การละเล่นพื้นบ้าน เทคโนโลยีชาวบ้าน เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฯลฯ

 

การจัดการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้

  1. ใช้แหล่งวิทยาการต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
  2. ใช้แหล่งการเรียนรู้จากสื่อสารมวลชน เพื่อให้ผู้เรียนฝึกวิเคราะห์ สนใจและติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม
  3. ใช้แหล่งการเรียนรู้จากเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเทอร์เน็ตและ Social media เพื่อให้สืบค้นและเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  4. การศึกษานอกสถานที่ เพื่อเปิดโลกทัศน์และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากโลกกว้าง

 

บทบาทผู้สอนในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

  1. ศึกษา รวบรวมข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำมาใช้
  2. ให้คำปรึกษา แนะนำผู้เรียนในการศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้
  3. จัดหา ประสานงาน เตรียมวัสดุอุปกรณ์ เอกสารเพิ่มเติม และสร้างแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้าให้กับผู้เรียน
  4. ประเมินผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการศึกษาแหล่งเรียนรู้
  5. ติดตามช่วยเหลือการดำเนินการ ให้การแนะนำเพื่อความถูกต้อง
  6. ประยุกต์ใช้แหล่งการเรียนรู้ให้สอดล้องกับการจัดการเรียนรู้

 

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา
ตัวอย่าง การบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นไม้ภายในโรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้

  • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ให้ผู้เรียนเขียนชื่อพันธุ์ไม้ แต่งคำประพันธ์หรือหาคำประพันธ์ที่ปรากฏชื่อพันธุ์ไม้นั้นๆ มาฝึกอ่าน แต่งทำนองเสนาะ ฝึกเขียนตามคำบอก เขียนเรียงความ คัดลายมือ หรือฝึกพูดบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ให้ผู้เรียนฝึกนับจำนวนจากผลหรือกิ่งก้าน ฝึกการวัดและการคาดคะเนขนาดและความสูงของพันธุ์ไม้ คำนวนหาตำแหน่ง ระยะทาง ทิศทาง ขนาด พื้นที่ รูปร่างของพันธุ์ไม้ เขียนแผนผัง แผนที่ แสดงที่ตั้งของพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับค่านิยม ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ศึกษาภูมิปัญญาที่เกิดจากพันธุ์ไม้ ฝึกเขียนรายงานจากการสำรวจ สภาพทางกายภาพของพันธุ์ไม้ ศึกษากฎหมายทีเกี่ยวข้องกับพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ศึกษาสรรพคุณทางยาของพันธุ์ไม้ การผลิตยาชงสมุนไพรจากผลิตผลของพันธุ์ไม้ รายชื่ออุปกรณ์กีฬาที่ทำจากพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ฝึกวาดภาพระบายสีพันธุ์ไม้ เรียนรู้ชนิดและลักษณะของเครื่องดนตรีที่ทำจากพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ฝึกออกแบบและสร้างสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำ จากพันธุ์ไม้นั้นๆ เรียนรู้อาชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยพันธุ์ไม้ การนำผลผลิตของพันธุ์ไม้มาทำเป็นอาหาร รวมทั้ง การถนอมอาหารที่ได้จากพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ให้ผู้เรียนเรียนรู้คำศัพท์และประโยคเกี่ยวกับส่วนประกอบของพันธุ์ไม้ ฯลฯ
  • กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดพันธุ์ไม้ที่มีในสถานศึกษาเป็นไม้ประจำสถานศึกษา จัดตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ไม้เพื่อสร้างจิตสำนึกในการสงวนและอนุรักษ์ พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น ฯลฯ

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต