Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
การใช้สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียน

การใช้สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียน

ประเภทของสื่อการเรียนการสอน
ดร.เอ็ดการ์ เดล (Edgar Dale) จำแนกสื่อการเรียนการสอนโดยถือหลักประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับ โดยเชื่อว่า “คนเราสามารถเข้าใจในสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีและเร็วกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม” ดังนั้น ดร.เดล จึงจำแนกสื่อการเรียนการสอนออกเป็น 10 ประเภท และเขียนไว้เป็นรูปกรวยคว่ำ เรียงตามลำดับประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับ โดยประสบการณ์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดไว้ที่ฐานของกรวยไปเรื่อย ๆ ประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับจะลดความเป็นรูปธรรมลง แต่จะเพิ่มความเป็นนามธรรมมากขึ้น จนถึงยอดกรวย ซึ่งจะให้ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ดร.เดล เรียกกรวยนี้ว่า “กรวยแห่งประสบการณ์” (Cone of Experience)

  1. ประสบการณ์ตรงที่มีจุดมุ่งหมาย (Direct, Purposeful Experiences) เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น ของจริง ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ สิ่งมีชีวิต สิ่งของ เป็นต้น
  2. ประสบการณ์จำลอง (Contrived Experiences) เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่จำลองมาจากประสบการณ์จริง เช่น หุ่นจำลอง ของตัวอย่าง ลูกโลก เป็นต้น
  3. ประสบการณ์นาฏการ (Dramatized Experiences) เป็นประสบการณ์ที่จัดขึ้นแทนประสบการณ์จริงที่เป็นอดีตหรือในสิ่งที่เป็นนามธรรมมาก ยากแก่การเข้าใจก็สามารถนำมาศึกษาได้ โดยอาศัยประสบการณ์นาฏการ เช่น การแสดงละคร การแสดงบทบาทสมมติ
  4. การสาธิต (Demonstrations) เป็นการอธิบายข้อเท็จจริง ความคิด และกระบวนการที่สำคัญ ด้วยการแสดงเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายให้เห็นเป็นลำดับขั้น
  5. การศึกษานอกสถานที่ (Field Trips) เป็นการพาผู้เรียนไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสไปแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน
  6. นิทรรศการ (Exhibitions) เป็นการจัดแสดงสิ่งต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ดูอย่างมีจุดมุ่งหมายในการจัดแสดง อาจมีการสาธิต หรือการใช้สื่อการสอนอื่น ๆ ประกอบ ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์จากการดู การฟังและการสอบถามเป็นส่วนใหญ่
  7. โทรทัศน์และภาพยนตร์ (Television and Motion Pictures) ผู้เรียนจะได้ศึกษาจากรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งได้รับประสบการณ์จากการมองเห็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนจริงและการได้ยินเสียงไปพร้อม ๆ กัน
  8. ภาพนิ่ง การบันทึกเสียง และวิทยุ (Still Picture, Recording, Radio) สื่อนี้จะให้ประสบการณ์การเรียนรู้ทางเดียวจากการดูภาพนิ่งต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ จากเทปบันทึกเสียง แผ่นเสียง รายการวิทยุที่สามารถให้ข่าวและความรู้แก่ผู้ฟังได้โดยไม่ต้องอ่าน
  9. ทัศนสัญลักษณ์ (Visual Symbols) เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนจะศึกษาและได้ประสบการณ์จากการมอง เช่น แผนภูมิ แผนสถิติ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ สื่อประเภทนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว
  10. วจนสัญลักษณ์ (Verbal Symbols) เป็นสื่อที่มีความเป็นนามธรรมมากที่สุด ได้แก่ ตัวอักษร คำพูด ผู้ที่จะเข้าใจสัญลักษณ์นี้จะต้องอาศัยประสบการณ์เดิมมาเป็นรากฐานในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ จากคำพูด บอกเล่าตัวอักษร ข้อความต่าง ๆ

 

การจัดประเภทของสื่อการเรียนการสอน

  1. ประเภทวัสดุ (Material or Software) เป็นสื่อที่อยู่ในรูปของภาพ เสียงหรือตัวอักษร แยกเป็น 2 ชนิด คือ
    1. ชนิดที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยตัวของมันเอง เช่น รูปภาพ แผนภูมิ ภาพวาด หนังสือ เป็นต้น
    2. ชนิดที่ต้องอาศัยเครื่องมือเสนอเรื่องราวไปสู่ผู้เรียน เช่น ภาพโปร่งแสง สไลด์ แถบบันทึกเสียง ฟิล์มภาพยนตร์
  2. ประเภทเครื่องมือ (Hardware or Equipment) หมายถึง เครื่องมือที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความรู้ไปสู่ผู้เรียน เช่น เครื่องฉายชนิดต่างๆ เครื่องเสียงชนิดต่าง ๆ เครื่องรับและส่งวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งต้องอาศัยวัสดุประกอบ เช่น ฟิล์มแถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ
  3. ประเภทเทคนิคหรือวิธีการ (Technique or Method) หมายถึง เทคนิคหรือวิธีการที่จะใช้ร่วมกับวัสดุและเครื่องมือ หรือใช้เพียงลำพังในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การจัดนิทรรศการ
 

แนวทางการใช้สื่อการเรียนการสอนด้านครูผู้สอน

  1. ต้องรู้และเข้าใจว่าควรใช้สื่อประเภทใดจึงจะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้และเข้าใจเนื้อหานั้น ๆ
  2. ควรจะต้องมีทักษะในการผลิตสื่อพื้นฐานการสอนอย่างง่าย ๆ แบบต่าง ๆ ได้บ้าง เช่น บัตรคำ แผนภูมิ แผนภาพ กระเป๋าหนัง เป็นต้น
  3. ควรจะต้องมีทักษะในการใช้สื่อการสอนต่างๆ ให้มากที่สุดเพื่อสะดวกในการใช้ประกอบการสอนได้อย่างเหมาะสม
  4. ควรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกสื่อการสอนเพื่อนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  5. การใช้สื่อการสอนบางครั้งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ใช้สื่อการสอนกับบุคคลอื่นๆ เช่น ผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อการสอน เป็นต้น
  6. ก่อนการใช้สื่อการสอน ผู้สอนควรเตรียมสิ่งต่อไปนี้ล่วงหน้า
    • วางแผนก่อนการใช้สื่อว่าจะใช้สอนอะไร ตอนไหน อย่างใด ใครเป็นผู้ใช้ และถ้ามีการใช้สื่อหลายชิ้น หลายประเภท ต้องจัดเรียงลำดับตามลักษณะการใช้
    • เตรียมจัดหาและเลือกสื่อการสอนล่วงหน้าเสมอ
    • ทดลองใช้สื่อการสอนเพื่อหาข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
    • จัดเตรียมสถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบการใช้สื่อเช่น ปลั๊กไฟ สายไฟ
  7. ขณะใช้สื่อการสอนในชั้นเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
    • ความพร้อมของผู้เรียน
    • กรณีที่ผู้สอนเป็นผู้ใช้สื่อ ผู้สอนไม่ควรแสดงให้ผู้เรียนเห็นก่อนเวลาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนในสื่อมากจนเกินไป หรือกรณีที่ผู้เรียนเป็นผู้ใช้ ผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้ชัดเจน
    • ใช้สื่อตามที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด และให้เป็นระบบระเบียบ
  8. ผู้สอนต้องรู้จักใช้และระวังรักษาสื่อการสอน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
    • พยายามใช้สื่อการสอนให้คงสภาพอยู่ได้นาน คุ้มค่ากับการลงทุน
    • แยกชนิดของสื่อการสอนตามลักษณะและขนาด โดยเก็บให้เป็นหมวดหมู่
    • ทำบัญชีวัสดุทุกชิ้น โดยจดเป็นรายการ มีการยืมคืนอย่างเป็นระบบ
    • สำรวจสื่ออย่างน้อยเทอมละครั้ง เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพใช้การได้เสมอ
  9. ทุกครั้งที่มีการใช้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการประเมินผลเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของสื่อการสอน
 

ขั้นตอนการใช้สื่อการเรียนการสอน

  1. การเลือกใช้สื่อให้เหมาะกับเนื้อหา เหมาะกับผู้เรียน (พื้นความรู้ วัย และความสามารถ) พิจารณาความปลอดภัย ความคุ้มค่ากับผลที่ได้ พิจารณาความสะดวก นอกจากนี้ผู้สอนควรคำนึงถึงองค์ประกอบในการเลือกสื่อ ได้แก่ จุดมุ่งหมายของการสอนและเนื้อหาวิชา รูปแบบและระบบของการเรียนการสอน ลักษณะของผู้เรียน และคุณสมบัติและข้อจำกัดของสื่อ
  2. การเตรียมก่อนใช้สื่อ ได้แก่ การเตรียมจัดหาสื่อ วัสดุ กิจกรรม หรือวิธีการต่าง ๆ ที่นำมาประกอบการสอนให้เหมาะสม ศึกษาเนื้อหาสาระที่ปรากฏในสื่อ วิธีการใช้และทดลองใช้สื่อนั้นก่อน จนกระทั่งสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อจะทำให้การสอนดำเนินไปด้วยดีตามลำดับก่อนหลัง
  3. การใช้สื่อเพื่อจัดกิจกรรม ใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงให้เห็นได้ชัดทั่วทั้งห้อง ควรหาที่ตั้งวางหรือแขวนอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ควรใช้อุปกรณ์ชี้แทนการใช้นิ้วมือ ควรเรียงลำดับตามการใช้ ไม่ควรจัดวางไว้ในลักษณะที่จะหันเหความสนใจของผู้เรียนเมื่อยังไม่ถึงเวลาใช้ ใช้เครื่องประกอบการใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม เช่น การติดเทปกาวไว้ก่อน เตรียมผู้เรียนในการใช้อุปกรณ์ ใช้อุปกรณ์ให้คุ้มค่า เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม ฝึกให้ผู้เรียนเกิดระเบียบในการใช้อุปกรณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
  4. การประเมินผลการใช้ โดยเมื่อมีการใช้สื่อประกอบการสอนแล้ว ผู้สอนควรติดตามผลการใช้สื่อประกอบการสอนทุกครั้ง เพื่อให้ทราบผลว่าผู้เรียนได้รับความรู้จากการใช้สื่อการเรียนการสอนนั้นมากน้อยเพียงใดมีข้อบกพร่องในการใช้อะไรบ้าง วิธีการติดตามผลและประเมินผล เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การอภิปรายการซักถาม เป็นต้น
 

ลักษณะของนวัตกรรมในการเรียนรู้

  1. เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ อาจจะใหม่ทั้งหมดหรือใหม่บางส่วน หรือเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยนำมาใช้ที่หนึ่ง แต่อาจนำมาใช้อีกที่หนึ่งแล้ว ก็นับเป็นนวัตกรรมสำหรับที่ ๆ ยังไม่เคยใช้ได้ หรือ เป็นสิ่งใหม่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมได้เช่นกัน
  2. เป็นสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการดำเนินการพิสูจน์ในระบบของการทดลองหรือทดสอบในการใช้
  3. เป็นสิ่งใหม่ที่ได้รับการยอมรับและได้นำไปใช้ แต่ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของการนำมาใช้ในภาวะปกติของที่ใดที่หนึ่ง แต่หากมีการนำมาใช้ในระบบปกติของที่นั้น ๆ เป็นประจำวันก็ไม่นับเป็นนวัตกรรมอีกต่อไป
  4. เป็นสิ่งใหม่ที่ได้รับการยอมรับและได้มีการนำไปใช้กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย
 

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต