Login Home Learning Design Learning Management Digital Competency Quiz
การเรียนรู้และรูปแบบการจัดการเรียน

การเรียนรู้และรูปแบบการจัดการเรียน

สวัสดีครับ เรื่องการเรียนรู้และรูปแบบการจัดการเรียนรู้จะกล่าวถึง 1. การเรียนรู้และธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ ความหมายของการเรียนรู้ ธรรมชาติของการเรียนรู้ เป้าหมายของการเรียนรู้ Learning Style ของผู้เรียน และ 2. รูปแบบของระบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน ประกอบด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับระบบการสอนแบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเตรียมวางแผนหรือออกแบบการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนเตรียมกระบวนการต่าง ๆ ในการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติและ Learning Style ของผู้เรียน พร้อมแล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยนะครับ

 

1. การเรียนรู้และธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน
การเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย มนุษย์อาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการและปรับตัวเองให้เข้ากับสภาวะต่าง ๆ ที่มีทั้งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และมีการเปลี่ยนแปลง และความต้องการเรียนรู้เพื่อจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่ตนต้องการ จึงมีการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มพูนความฉลาดเฉลียวและประสบการณ์ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาที่จะต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงวัยจึงต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลาหรือที่เรียกกันว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

ความหมายของการเรียนรู้
นักวิชาการ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาทางการศึกษาให้ความหมายการเรียนรู้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกันว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดจากสมองและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับประสาทสัมผัสและส่วนต่าง ๆ ทางร่างกายของมนุษย์ การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากปัจจัยทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย เช่น การฝึกฝน ฝึกหัด การอบรมสั่งสอนหรือการสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การประมวลผลของสมองและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างค่อนข้างคงทนและถาวร ตัวอย่างเช่น การฝึกหัดขี่จักรยาน เล่นเครื่องดนตรี หรือขับรถที่เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้วก็จะติดตัวไปตลอด

ธรรมชาติของการเรียนรู้
ธรรมชาติการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่สำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่มนุษย์มีธรรมชาติในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและได้รับอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบการณ์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ก่อนหน้า ดังนั้น ความรู้ ความสนใจ ทัศนคติ ทักษะและลักษณะบุคลิกภาพจึงล้วนเป็นผลมาจากการเรียนรู้ ธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุดและเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดเป็นความสามารถติดตัวอย่างถาวรจนกว่าเซลล์ประสาทของร่างกาย หรือสมองจะถูกทำลายจนไม่สามารถรับรู้หรือสั่งการได้อีกต่อไป การเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ธรรมชาติของการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มกระบวนการนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก

  1. ความต้องการ (Want) คือ เมื่อผู้เรียนมีความต้องการ เช่น อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองในสิ่งใด ความต้องการนั้นจะเป็นสิ่งยั่วยุที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการแสวงหาความรู้หรือคำตอบตามความต้องการของตน
  2. สิ่งเร้า (Stimulus) คือ สิ่งที่กระตุ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์แล้วทำให้เกิดความสนใจและใส่ใจในสิ่งที่มากระตุ้น ดังนั้น สิ่งเร้าย่อมส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และศึกษาในสิ่งที่สนใจนั้น ๆ
  3. การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดความสนใจ มนุษย์จะทำการตอบสนองกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทางร่างกาย เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจหรือความรู้สึก เกิดกระบวนการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นจากการรับรู้ไปสู่การจดจำและประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบและเชื่อมโยงจนเกิดเป็นการจัดเก็บความรู้จนสามารถใช้ประกอบการคิดและการตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล
  4. รางวัล (Reward) เมื่อเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสมย่อมได้รับผลที่เป็นรางวัลต่าง ๆ ตามมา เช่น รางวัลที่เป็นมูลค่าทางจิตใจ ความภาคภูมิใจ เกียรติยศศักดิ์ศรี การได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นหรือเพิ่มการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
 

เบนจามิน เอส บลูม (Benjamin Samuel Bloom, 1913-1999) นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน เชื่อว่า การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรมการเรียนรู้และจิตวิทยาพื้นฐาน โดยเมื่อมนุษย์เกิดการเรียนรู้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กันของพฤติกรรม 3 ด้าน คือ 1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือด้านความรู้ ความเข้าใจทางปัญญา ซึ่งเป็นความสามารถทางสมองของมนุษย์ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ จดจำ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ 2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) หรือด้านอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นลักษณะที่มนุษย์สามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ทางอารมณ์ เช่น การรับรู้ การตอบสนอง ความรู้สึก การให้คุณค่า ค่านิยม ความกระตือรือร้น แรงจูงใจ และทัศนคติ และ 3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือด้านจิตที่สัมพันธ์กับความสามารถทางร่างกาย ซึ่งเป็นการประสานงานของจิตกับการใช้ทักษะเคลื่อนไหวทางกายภาพ โดยการพัฒนาให้เกิดเป็นทักษะจะต้องอาศัยการฝึกฝน และวัดผลในแง่ของความรวดเร็วหรือความถูกต้องแม่นยำ (Donald Clark, 2015)

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Bloom’s Taxonomy from Vanderbilt University และ การเรียนรู้ตามทฤษฎีของบลูม จาก Aksornnex

เป้าหมายของการเรียนรู้
ยูเนสโก (UNESCO, 2014) นำเสนอ 4 เป้าหมายหลักและวิสัยทัศน์แห่งการเรียนรู้ ไว้ดังนี้

  1. การเรียนเพื่อให้รู้ (Learning to know) การเรียนเพื่อรู้รวมถึงการเรียนเพื่อเรียนรู้ทักษะ การเรียนรู้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละบุคคลได้รับประโยชน์จากโอกาสทางการศึกษาที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสังคมรูปแบบใหม่ การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้จึงช่วยให้บุคคลสามารถผสมผสานและบูรณาการความรู้ในการศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วไปเข้ากับความเป็นไปได้ในการทำงานและประกอบอาชีพต่าง ๆ
  2. การเรียนเพื่อนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ (Learning to do) เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะให้ตนเองมีความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ และเน้นการได้มาซึ่งทักษะอาชีพที่จำเป็นในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ความร่วมมือระหว่างโลกแห่งการศึกษากับธุรกิจและอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนในแง่ของการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมที่หลากหลาย ซึ่งกำหนดให้การศึกษาและการฝึกอบรมมีความสัมพันธ์กับโลกแห่งการทำงาน นอกเหนือจากการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนอาชีพหรือประกอบธุรกิจแล้ว ผู้คนยังต้องพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหรือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
  3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to live together) การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยจะต้องพัฒนาความเข้าใจผู้อื่น ประวัติศาสตร์ ประเพณีของแต่ละสังคมและจิตวิญญาณของแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำหรับการรับรู้และสร้างเจตคติที่ดีต่อกัน รวมถึงการพึ่งพาอาศัยหรือเกื้อกูลซึ่งกันและกันที่เพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและวิเคราะห์ร่วมกันเกี่ยวกับความเสี่ยงและความท้าทายในอนาคตจะกระตุ้นให้มนุษย์สามารถดำเนินโครงการร่วมกันหรือสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ชาญฉลาดและสันติ และเพื่อลดวงจรอันตรายที่เกิดจากการดูถูกเหยียดหยาม เหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ ศาสนาและความไม่พึงพอใจในด้านต่าง ๆ
  4. การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็น (Learning to be) การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นหรือเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตและเป็นในสิ่งที่ต้องการได้ มีหัวใจสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่ทุกคนจะต้องใช้ความเป็นอิสระและวิจารณญาณร่วมกับความรู้สึกรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยเริ่มต้นด้วยการตระหนักในตนเองว่ามีความสามารถที่จะประกอบสัมมาอาชีพและรู้จักที่จะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น และเป็นผู้สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติและสังคมโลกได้
 

รูปแบบความชอบในการเรียนรู้ที่แตกต่างของผู้เรียน (Learning Style)

  1. ชอบการเรียนรู้จากการดูภาพเรื่องราวหรือเหตุการณ์ (Visual Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้ประสาทสัมผัสทางตาในการรับรู้ภาพและเรื่องราว ซึ่งครูควรใช้รูปภาพประกอบการสอนแทนข้อความหรือจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ออกไปเรียนรู้นอกสถานที่หรือเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อจะได้เห็นภาพหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
  2. ชอบการเรียนรู้จากการฟัง (Auditory Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้โสตประสาทเกี่ยวกับการฟัง เช่น ตั้งใจฟังครูพูดอธิบายหรือบรรยายมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง และบางคนอาจจะชอบเปิดเพลงฟังขณะอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน พฤติกรรมของผู้เรียนแบบนี้จึงเป็นผู้มีสุนทรียภาพทางเสียงดนตรี ซึ่งอาจจะมีความสามารถในการแสดงออกทางดนตรีหรือร้องเพลง
  3. ชอบการเรียนรู้จากการได้เคลื่อนไหวทางร่างกาย (Kinesthetic Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้กำลังในการทำกิจกรรม ซึ่งจะเป็นแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมเกมและนันทนาการ การแสดง เล่นและเต้นรำ
  4. ชอบการเรียนรู้จากการใช้ประสาทมือในการสัมผัส (Tactile Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้มือสัมผัส หยิบจับ ปั้น วาดหรือขีดเขียนและลงมือทำ เช่น การปั้นดิน การวาดภาพระบายสี การเย็บ ปัก ถัก ร้อย และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ
  5. ชอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Individual Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีด้วยการใช้ความคิดและจินตนาการของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ สามารถทำความเข้าใจในการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้อื่น ชอบอ่าน ชอบศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูกและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะพฤติกรรมของบุคคลแบบพึ่งพาตนเองมากกว่ารอที่จะเรียนรู้จากครู
  6. ชอบการเรียนรู้ด้วยการทำกิจกรรมกลุ่ม (Group Learning) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชอบทำกิจกรรมทางสังคมและมีส่วนร่วมกับผู้อื่น โดยอาจจะเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดีในการทำงานร่วมกัน

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดของรูปแบบพฤติกรรมในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จาก Types of Learning Styles from Bay Atlantic University และ What are the four learning styles? from Sphero

 

รูปแบบของการเรียนรู้กับการเรียนการสอน

  1. สร้างประสบการณ์ให้แน่นแฟ้น (Concrete Experience) โดยฝึกให้เรียนรู้จริงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
  2. สังเกตปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น (Reflective Observation) โดยฝึกให้เรียนรู้จากการสังเกตแล้วสรุปความรู้ที่ได้จากการเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยตนเอง
  3. สร้างความคิดเชิงนามธรรม (Abstract Conceptual) โดยฝึกให้ผู้เรียนใช้ความคิดจากการนิยามความหมาย สร้างหลักการด้วยเหตุและผล
  4. ทดลองหรือลองผิดลองถูก (Active Experimentation) โดยฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทดลอง ลงมือปฏิบัติ และสรุปผลจากการทดลองด้วยตนเอง
 

2. รูปแบบของระบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน
การจัดระบบการจัดการเรียนรู้เป็นการกำหนดขั้นตอนการเรียนการสอนที่จะใช้เป็นแบบแผนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะของรูปแบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน มีดังนี้

  1. มีปรัชญา แนวคิด หลักการ ทฤษฎีหรือความเชื่อที่ได้รับการยอมรับเป็นองค์ประกอบ
  2. มีการบรรยายและอธิบายสภาพ หรือลักษณะของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักการ
  3. มีการจัดระบบ จัดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สามารถนำผู้เรียนไปสู่เป้าหมายได้
  4. มีการอธิบายหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีสอนและเทคนิคการสอนต่าง ๆ ที่ช่วยให้กระบวนการสอนนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นักการศึกษาหลายท่านได้นำเสนอแนวคิดของระบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน สรุปสาระสำคัญ ที่น่าสนใจได้ดังต่อไปนี้

 

ระบบการสอนของไทเลอร์ (Tyler)
แนวคิดของไทเลอร์ (Tyler) ได้กำหนดระบบของการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนไว้ 3 ขั้นตอน คือ

  1. กำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนการสอน โดยในการวางแผนการสอนจะต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนให้ชัดเจน
  2. กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเลือกจัดเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
  3. กำหนดการประเมินผลการเรียน โดยในการประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนนั้น ๆ
 

ระบบการสอนของกลาสเซอร์ (Glasser)
แนวคิดของกลาสเซอร์ (Glasser) ได้กำหนดระบบของการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนไว้ 5 ขั้นตอน คือ

  1. กำหนดจุดประสงค์การสอน
  2. กำหนดการประเมินสถานะของผู้เรียนก่อนสอน เพื่อดูความพร้อม
  3. กำหนดการจัดกระบวนการเรียนการสอน
  4. กำหนดการประเมินผลการสอน
  5. กำหนดการให้ข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งเป็นการนำผลที่ได้จากการประมินไปใช้ปรับปรุง แก้ไขการดำเนินกิจกรรม 1, 2 และ 3
 

ระบบการสอนของบราวน์และคณะ (Brown et al.)
ระบบการสอนของบราวน์และคณะมีแนวคิดที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน โดยจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน ดังนี้

  1. กำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหา โดยเน้นการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถวัดและสังเกตได้ชัดเจน และเลือกเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  2. กำหนดการจัดกิจกรรมที่เน้นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบรายบุคคล
  3. กำหนดการจัดรูปแบบการเรียนการสอน โดยจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดและคำนึงถึงกลุ่มของผู้เรียนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และเนื้อหาบทเรียน
  4. กำหนดบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
  5. กำหนดวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บรรลุวัตถุประสงค์ได้สะดวกและง่ายขึ้น
  6. กำหนดสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยคำนึงถึงการจัดสภาพห้องเรียนตามขนาดของผู้เรียน ตลอดจนจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้สนับสนุนการเรียนการสอน เช่น ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ
  7. กำหนดการประเมินผลและการปรับปรุง เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ในการสอนครั้งต่อไป
 

ระบบการสอนของเยอร์ลาชและอีลี (Gerlach & Ely)
ระบบการสอนของเยอร์ลาชและอีลี (Gerlach & Ely) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป มี 10 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
  2. การกำหนดเนื้อหา เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้เรียน
  3. การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้น เพื่อทราบภูมิหลัง
  4. การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน สอนแบบเตรียมเนื้อหาให้สมบูรณ์แล้วป้อนเนื้อหาโดยใช้สื่อประกอบการสอนให้กับผู้เรียน และสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ โดยผู้เรียนค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง
  5. การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน เป็นการจัดกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสมกับวิธีการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเหมาะสม
  6. การกำหนดเวลาเรียน กำหนดเวลาให้สอดคล้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ สถานที่ และความสนใจของผู้เรียน
  7. การจัดสถานที่เรียน จัดให้สอดคล้องกับกลุ่มของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนขนาดใหญ่ ห้องเรียนขนาดเล็ก สอนแบบกลุ่มย่อยหรือกลุ่มอภิปราย ห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระ เหมาะสำหรับสอนแบรายบุคคล
  8. การเลือกทรัพยากร เป็นการเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน และขนาดของกลุ่มผู้เรียน
  9. การประเมินผล ประเมินพฤติกรรมผู้เรียนจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับสื่อ โดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก
  10. การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ โดยภายหลังจากประเมินผลเสร็จแล้วจะต้องวิเคราะห์ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้มากหรือน้อยเพียงใด มีข้อบกพร่องและจะมีแนวทางการแก้ไขได้อย่างไร
 

ระบบการสอนของโรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gagne)
กาเย่ เชื่อว่า ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทคือ ทักษะทางปัญญา (Intellectual skill) กลวิธีในการเรียนรู้ (Cognitive strategy) ภาษาหรือคําพูด (Verbal information) ทักษะการเคลื่อนไหว (Motor skills) และเจตคติ (Attitude) โดยผลการเรียนรู้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการข้อมูลในสมองของมนุษย์และอาศัยข้อมูลเหล่านั้นสำหรับการพิจารณาในการแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และในขณะที่กระบวนการจัดการภายในสมองกําลังเกิดขึ้น เหตุการณ์ภายนอกร่างกายทั้งหมดต่างมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในด้วย จุดมุ่งหมายของกาเย่คือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้อย่างดี รวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน กาเย่แบ่งระบบการสอนไว้ 9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางสำหรับนำไปใช้การออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

  1. ขั้นกระตุ้นหรือดึงดูดความสนใจ (Gaining Attention) เป็นขั้นตอนแรกของการสอนเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เรียนให้เกิดการตื่นตัวและสนใจในสิ่งที่ครูกำลังจะสอน
  2. ขั้นชี้แจงจุดประสงค์การเรียน (Informing Learners of the Objective) เป็นการแจ้งให้ผู้เรียนได้ทราบถึงจุดประสงค์หรือเป้าหมายและผลที่คาดว่าจะได้รับจากการเรียนรู้
  3. ขั้นกระตุ้นเพื่อทบทวนความรู้เดิม (Stimulating Recall of Prior Learning) เป็นการใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นการทบทวนความรู้ที่ผู้เรียนมีอยู่ก่อนที่จะเริ่มการเรียนรู้ เช่น การใช้คำถาม และการใช้แบบทดสอบก่อนเรียน
  4. ขั้นนำเสนอสิ่งเร้าการเรียน (Presenting the Stimulus) เป็นการนำเสนอสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระวิชา โดยเนื้อหาสาระของสิ่งเร้าควรมีความเฉพาะเจาะจงและเกี่ยวข้องกับผลการเรียนรู้หรือสอดคลองกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เช่น การใช้สื่อนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ
  5. ขั้นให้คำแนะนำการเรียนรู้ (Providing Learning Guidance) เป็นการให้คำแนะนำหรือการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  6. ขั้นกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียน (Eliciting Performance) เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การทำแบบฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน
  7. ขั้นให้ข้อเสนอแนะหรือให้ข้อมูลย้อนกลับ (Providing Feedback) เป็นการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลป้อนกลับจากผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปจากการทำกิจกรรมด้วยตนเองในขั้นตอนที่ผ่านมา รวมถึงให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียน
  8. ขั้นประเมินประสิทธิภาพการเรียน (Assessing Performance) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบประสิทธิภาพหรือผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น การถามตอบ และการใช้แบบทดสอบหลังเรียน
  9. ขั้นเสริมสร้างความคงทนและการถ่ายโอนความรู้ (Enhancing Retention and Transfer) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการโดยอาจใช้วิธีการสรุป ทบทวน และเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อนำไปใช้ในการเรียนรู้ครั้งต่อไปหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
 

การเรียนรู้อารยอัจฉริยะเสมือนเพื่อพัฒนาสมรรถนะการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต