โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในศาลยุติธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

ความเป็นมา

วิสัยทัศน์ศาลยุติธรรม กำหนดว่า “ศาลยุติธรรมยึดมั่นหลักนิติธรรมด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชน” โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศาลยุติธรรมระยะ 4 ปี ที่จะทำให้ศาลยุติธรรมสามารถอำนวยความยุติธรรมและปฏิบัติภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์กรในทุกรูปแบบ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (TRUST) ได้แก่

  1. เชื่อมั่นศรัทธาการอำนวยความยุติธรรม (Trusted Justice - T)
  2. เชื่อถือในระดับสากล (Reliability - R)
  3. การดำเนินงานอันเป็นมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน (Uniformity - U)
  4. พัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability - S)
  5. เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation - T)

การพัฒนาศาลยุติธรรมมีความท้าทายอยู่ 4 ประเด็น คือ

  1. ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
  2. การพัฒนามาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมของศาลยุติธรรมในระดับสากล
  3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
  4. ภัยพิบัติโรคระบาดและสิ่งแวดล้อม

ความท้าทายประเด็นที่ 3 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ และความท้าทายที่ 4 ภัยพิบัติโรคระบาดและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ศาลภาษีอากรกลางดำเนินการมาโดยตลอด

ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางให้รับผิดชอบ นำความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับศาลภาษีอากรกลางมากมาย โดยมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการใช้งานต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ สร้างความสะดวกสบายในการทำงาน เช่น ปี พ.ศ.2561 มีการพัฒนาระบบสารสนเทศผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางสำหรับให้ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศรายงานผลสถิติคดีรายวันและรายเดือนผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถเข้าใช้งานได้จากทุกสถานที่ที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางสามารถตรวจสอบรายการประจำวัน รายงานประจำเดือน และรายงานประจำปี ได้จากสถานที่ทำงานและที่บ้าน รวมถึงการตรวจรายงานในระหว่างการเดินทาง ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริหารเป็นอย่างมาก จากเดิมที่การจัดทำรายงานออนไลน์มีเพียงส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้นที่ดำเนินการ ภายหลังจากที่มีการนำระบบสารสนเทศผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางมาใช้งานเพียง 2 สัปดาห์ ผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางก็ได้มีคำสั่งให้ทำการขยายผลการรายงานสถิติต่าง ๆ ไปยังงานส่วนอื่นด้วย ส่งผลให้แต่ละส่วนในศาลภาษีอากรกลางมีการใช้ระบบสารสนเทศผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางส่งรายงานสถิติต่าง ๆ เป็นประจำมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ศาลภาษีอากรกลางเป็นศาลที่มีปริมาณการใช้กระดาษลดลงอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดศาลหนึ่ง

ปัจจุบันส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้กับงานต่าง ๆ ในศาลภาษีอากรกลางเป็นศาลแล้ว เช่น การพัฒนากล่องรับเรื่องร้องเรียนอัฉริยะ ที่ผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางสามารถรับทราบได้ทันทีที่มีผู้มายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านกล่องรับเรื่องร้องเรียนอัฉริยะ ไม่ว่าผู้บริหารศาลภาษีอากรกลางจะอยู่ภายในศาลหรือนอกศาลก็สามารถรับทราบถึงการมาส่งเอกสารได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครื่องพ่นแอลกอฮอลอัตโนมัติที่สามารถพ่นแอลกอฮอล โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนจากตัวบุคคล เมื่อผู้ใช้ยื่นมือเข้าไปใกล้กับหัวพ่นอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนจะสั่งให้ปลั๊มทำงานและพ่นแอลกอฮอลไปยังมือของผู้ใช้งาน เครื่องพ่นแอลกอฮอลอัตโนมัติที่ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาขึ้นมามีราคาถูกกว่าเครื่องพ่นแอลกอฮอลอัตโนมัติที่มีการจำหน่ายในตลาด จึงเป็นผลงานที่น่าจะนำไปเผยแพร่ให้แต่ละศาลนำไปสร้างใช้งานกันต่อไป

การนำระบบสารสนเทศต่าง ๆ มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากบุคลากรในศาลภาษีอากรกลางโดยถ้วนหน้า เพื่อให้การทำงานด้วยระบบสารสนเทศที่พัฒนาโดยส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศแต่ละระบบสามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรในศาลภาษีอากรกลางอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศได้จัดทำโครงการอบรมทักษะดิจิทัลให้บุคลากรในศาลภาษีอากรกลางอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้ว ประกอบกับการที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดให้ในแต่ละปีงบประมาณบุคลากรในศาลยุติธรรมต้องได้รับการอบรมความรู้ทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20 ชั่วโมง จึงส่งผลให้การพัฒนาทักษะดิจิทัลในศาลภาษีอากรกลางมีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นับจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ไม่ได้มีแต่เพียงบุคลากรในศาลภาษีอากรกลางเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัล เพราะมีบุคลากรจากศาลอื่นมาเข้าร่วมรับการอบรมด้วย เช่น ศาลแพ่ง, ศาลอุทธรณ์ภาค 7, สำนักงานอำนวยการประจำศาลฎีกา, ศาลอาญามีนบุรี, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์, ศาลจังหวัดแม่สอด, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานี, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี โดยมีการจัดอบรมทั้งแบบบรรยายในห้องเรียนและการอบรมผ่านระบบออนไลน์ (Line VDO, YouTube, Google Form) ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศขอเสนอโครงการอบรมทักษะดิจิทัลในศาลยุติธรรมประจำปี พ.ศ.2565 เรื่อง ก้าวสู่จักรวาลนฤมิตกับศาลภาษีอากรกลาง (Taxc: Beyond to the Metaverse) โดยมีหัวข้อการบรรยายดังนี้ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับจักรวาลนฤมิต (Introduction to Metaverse), เทคโนโลยีที่ใช้ในจักรวาลนฤมิต ประกอบด้วย เทคโนโลยี Blockchain, Cryptocurrency, NFT, AR และ VR, ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้กับจักรวาลนฤมิต และศาลภาษีอากรกลางกับจักรวาลนฤมิต จำนวนทั้งสิ้น 21 ชั่วโมง โดยเนื้อหาจะครอบคลุมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกที่มนุษย์อยู่ในทุกวันนี้ที่ยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาดอยู่ ให้กลายเป็นโลกคู่ขนานที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้ชีวิตหรือทำงานได้ในอีกมิติหนึ่งที่ก้าวล้ำกว่าโลกที่ใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในศาลภาษีอากรกลางและศาลยุติธรรมอื่นที่อยู่ในศูนย์ราชการหรือทั่วประเทศให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเปลี่ยนโลกในอีกไม่กี่ปีถัดจากนี้ รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิตมาใช้ในหน่วยงาน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เป็นความท้าทายใหม่ที่ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ศาลภาษีอากรกลางจะเปิดกว้างด้วยการอบรมทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรในศาลยุติธรรมอย่างเข้มข้นแล้ว ยังเป็นก้าวสำคัญที่ประกาศให้บุคลากรในศาลยุติธรรมทั้งหมดรับทราบถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลภาษีอากรกลางว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ